"เกรงส่งผลให้เกิดสึนามิ"
จากกรณีนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์ เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยการเปลี่ยนแปลงและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาเสถียรภาพของชั้นตะกอนการเกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเล บริเวณขอบไหล่ทวีปในทะเลอันดามัน ออกมาเปิดเผยว่า ทีมวิจัยใต้ทะเลลึกได้สำรวจพบโคลนภูเขาไฟใต้ทะเล 4 ลูกห่างจากฝั่งภูเก็ตเพียง 200 เมตร โดยมีฐานความกว้างถึง 1 กม. สูง 100 เมตร จนสร้างความแตกตื่นอย่างมาก เพราะเกรงจะส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามินั้น
ต่อมาเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) นายอานนท์ เปิดเผยอีกครั้งว่า สิ่งที่ทีมนักสำรวจทะเลลึกเจอครั้งนี้ เรียกว่า ภูเขาโคลนใต้ทะเล หรือ Mud Volcano ไม่ใช่ภูเขาไฟใต้น้ำอย่างที่เป็นข่าวจนเกิดความสับสน ยอมรับว่าเป็นการด่วนสรุปว่าเป็นภูเขาโคลนใต้ทะเล เนื่องจากเป็นข้อมูลชั้นต้นที่ตรวจวัดจากเครื่องมือหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ และการสะท้อนของคลื่นที่วัดจาก Sub-bottom profiler พบว่าจุดที่เป็นภูเขาโคลนนั้นมีความแตกต่างจากพื้นท้องทะเลอื่นๆคือ มีการเรียงตัวของชั้นตะกอน และมีรูปทรงเป็นภูเขาที่มีความสูงตั้งแต่ระดับ 60-100 เมตร อาจจะใช่หรือไม่ใช่ภูเขาโคลนก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการลงไปเก็บตะกอน ถ่ายภาพใต้น้ำ หรือศึกษารายละเอียดเชิงลึกมากกว่านี้ยังถือว่าเป็นการคาดการณ์ แต่ที่น่าสนใจเพราะถือเป็นเรื่องใหม่ทางวิชาการ ต้องมีการหาคำตอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในอนาคต