นศ.ค้าน ออกนอกระบบ นัดยกพล 8 ธ.ค. นี้

มหาวิทยาลัยค้าน "ออกนอกระบบ" นัดยกพล8ธันวาฯ เคลื่อนไหวใหญ่


ต้านออกนอกระบบ:ตัวแทนนิสิตนักศึกษาในนามแนวร่วมคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกว่า 200 คน ร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยฯ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมเผาหุ่นนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาประท้วงด้วย


8 ธันวาคม มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวคัดค้าน


ยังคงมีความเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ โดยเมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 ธันวาคม กลุ่มนิสิตนักศึกษาต้านการแปรรูป นำโดย นายเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมนิสิตจุฬาฯ 30 คน รวมตัวกันที่หน้าคณะรัฐศาสตร์

โดยนายเก่งกิจกล่าวปราศรัยชี้แจงถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมเชิญชวนนิสิตมาร่วมแสดงพลังเคลื่อนไหวด้วย
นายเก่งกิจกล่าวอีกว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเคลื่อนไหว ขึ้นป้ายผ้าคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว และในวันที่ 8 ธันวาคม มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวภายในมหาวิทยาลัยกันเองแบบเครือข่ายทั่วประเทศ

โดยนิสิตนักศึกษาแต่ละสถาบันจะยื่นหนังสือคัดค้านถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสียของการออกนอกระบบร่วมกัน


สำหรับพ.ร.บ.จุฬาฯ ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง


ต่อมา เวลา 12.00 น.นิสิตกลุ่มดังกล่าวเข้าพบผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยนายเกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ได้มาพบนิสิตกลุ่มดังกล่าว พร้อมกับเชิญนิสิตกลุ่มดังกล่าวเข้าไปหารือร่วมกับที่ประชุมคณบดีถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวคัดค้าน

แต่ได้รับการปฎิเสธจากนิสิตกลุ่มดังกล่าว โดยยืนยันว่าต้องการให้ยกเลิกพ.ร.บ.จุฬาฯเท่านั้น นายจรัสและนายเกื้อจึงขอให้กลุ่มนิสิตประสานงานมา ถ้าต้องการพูดคุยกับผู้บริหารคนใดในวันและเวลาใด

แม้นิสิตกลุ่มดังกล่าวจะไม่พอใจแต่ก็ยอมสลายตัวในที่สุด นายจรัสกล่าวว่า การที่นิสิตและอาจารย์ออกมาแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวนั้นทำได้ แต่ต้องไม่ใช่ในนามคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นการแสดงความเห็นส่วนบุคคล แต่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียนหยุดสอน

สำหรับประเด็นคัดค้านเรื่องค่าเล่าเรียนนั้น นักศึกษาเข้าใจผิด การขึ้นค่าเล่าเรียน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกนอกระบบหรืออยู่ในระบบ แต่ในการบริหารงานทางมหาวิทยาลัยต้องขึ้นค่าเล่าเรียนอยู่แล้ว ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ของจุฬาฯ เป็นคนกรุง 60 % และเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะ การที่จุฬาฯ จะทำอะไร ต้องคำนึงเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องการขึ้นค่าเล่าเรียน

"ส่วนตัวผมเห็นว่าการออกนอกระบบมีผลดีเรื่องความคล่องตัวในการบริหารงาน และการพัฒนาวิชาการ และจุฬาฯ ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยจะสอนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานวิจัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานวิจัยก็ติดขัดเรื่องราชการอยู่มาก หากออกนอกระบบก็จะส่งผลดี มีการตรวจสอบและประเมินผล จากนี้ต้องรอให้กลุ่มตัวแทนนิสิตฯประสานมาว่าจะเข้าหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยวันไหน" นายจรัสกล่าว

สำหรับพ.ร.บ.จุฬาฯผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2543 จำนวน 5 ครั้ง วันที่ 26 ตุลาคม- 9 พฤศจิกายน 2541 จำนวน 10 ครั้ง ในเดือนตุลาคม 2543 -กุมภาพันธ์ 2545

โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายชัยอนันต์ สมุทรวานิช นางสายสุรี จุติกุล นายโสภณ สุภาพงษ์ เป็นกรรมการ และตั้งแต่ปี 2543-ปัจจุบัน มีรายการอธิการบดีพบประชาคม ในประเด็นนี้มากกว่า 6 ครั้ง

รายการอธิการบดีออนไลน์ และการจัดทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ โดยเฉพาะ ปัจจุบันสภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมจุฬาฯ อีกด้วย

สภาคณาจารย์ม.ศิลปากรออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ


วันเดียวกัน สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ..." มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร...เข้าครม.ทำด้วยความเร่งรีบ

ทั้งที่การปฎิรูปการศึกษามีเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการมากกว่า อีกทั้ง กฎหมายดังกล่าวมิใช่นโยบายหลักของรัฐบาลปัจจุบัน สภาอาจารย์จึงมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน

เพื่อศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน ที่สำคัญจากผลสำรวจความเห็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยครั้งล่าสุดพบว่า ข้าราชการ 90.68% ต้องการมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ และพนักงาน 64.94% ต้องการเปลี่ยนสถานะจากพนักงานเป็นข้าราชการ

จากเหตุผลดังกล่าว สภาคณาจารย์ได้มีหนังสือทักท้วงไปยังสภามหาวิทยาลัยแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด จึงได้ทำหนังสือเสนอรัฐบาลต่อไป
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่หน้ารัฐสภา

กลุ่มนักศึกษาในนามแนวร่วมคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบประมาณ 200คน ประกอบด้วย ตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารวมตัวชุมนุมคัดค้านการผ่านร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

โดยกลุ่มนักศึกษาได้ยื่นหนังสือคัดค้านผ่านนางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการ สนช. เพื่อนำเสนอต่อ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสนช.และสมาชิก สนช.ทุกคน โดยตัวแทนกลุ่มนิสิตนักศึกษา กล่าวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมเรียกร้องให้ยุติกระบวนการทุกอย่างไว้ก่อน

เพื่อให้ทำประชาพิจารณ์ประชาคมมหาวิทยาลัยก่อน เพราะนโยบายนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนิสิต นักศึกษา อาจารย์ พนักงานในมหาวิทยาลัย และสังคมโดยรวม

ซึ่งการเร่งรัดนำกฎหมายฉบับนี้ออกนอกระบบ ทำให้ไม่มีความโปร่งใส มีบางมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เพราะมีผลประโยชน์ ผู้บริหารร่างระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเองไว้แล้ว เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วผู้บริหารจะทำอะไรก็ได้ เหมือนมีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาได้เผาหุ่นนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่ สนช. รวมทั้งร้องตะโกนให้เลิกนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และชูป้ายผ้ามีข้อความ "เก็บภาษีไปทำไม ไม่นำมาอุดหนุนการศึกษา"

ขณะที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่า คงไม่บานปลาย และพร้อมดูประเด็นที่มีการคัดค้านว่าควรรับฟังหรือไม่ เพราะข้อเสนอการออกนอกระบบ ที่มหาวิทยาลัยเสนอมาเป็นการเสนอของหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบคือสภามหาวิทยาลัย ซึ่งตนย้ำมาตลอดว่า ให้เน้นความพร้อมและความสมัครใจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์