โพลล์ชี้โฆษณากระตุ้นเด็ก กินขนมกรุบกรอบ-ทอฟฟี่ เล็งชงมาตรการคุมเข้ม6ข้อ

คม-ชัด-ลึก

ผลสำรวจเอแบคโพลล์ชี้โฆษณาทางทีวีกระตุ้นให้เด็กอายุ 6-12 ปี กินขนมกรุบกรอบ-ทอฟฟี่ ระบุเด็กร้อยละ 72.5 เห็นโฆษณาขนมกรุบกรอบ ทอฟฟี่ทางทีวีบ่อยถึงบ่อยมาก เด็กดูโฆษณากินมากกว่าเด็กไม่ได้ดู ด้านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุ 3 ชั่วโมงมีโฆษณาขนมบ่อยถึง 130 ครั้ง เตรียมเสนอมาตรการคุมโฆษณาขนม 6 ข้อ เล็งมีผลบังคับใช้ในวันเด็กปีหน้า

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิจยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ศึกษาวิจัยเรื่อง อิทธิพลของสื่อโฆษณาขนมกรุบกรอบ/ลูกอมทอฟฟี่ทางโทรทัศน์ต่อความนิยมรับประทานในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 6-12 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,364 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-28 พฤศจิกายน 2549

โฆษณาทีวี ทำให้เด็กกินขนมมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า สื่อโฆษณาขนมกรุบกรอบทางโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อความนิยมรับประทานขนมกรุบกรอบในกลุ่มเด็กเล็กและนักเรียนอายุ 6-12 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 10-12 ปี น่าเป็นห่วงที่สุด โดยเด็กอายุ 6-9 ปี ที่เห็นโฆษณาขนมกรุบกรอบทางโทรทัศน์และนิยมรับประทานประจำ มีอยู่ร้อยละ 51.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าเด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาแต่นิยมรับประทานเป็นประจำ ที่มีอยู่ร้อยละ 38.7 ขณะที่เด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาและไม่นิยมรับประทานขนมกรุบกรอบ มีสูงถึงร้อยละ 61.3 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเด็กที่เห็นโฆษณาบ่อยแต่ไม่นิยมรับประทาน ที่มีอยู่ร้อยละ 48.5

ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กอายุ 10-12 ปี ที่เห็นโฆษณาบ่อยและนิยมรับประทานเป็นประจำ มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 62.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาแต่นิยมรับประทานเป็นประจำ ที่มีอยู่ร้อยละ 51.6 ขณะที่เด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาและไม่นิยมรับประทาน มีอยู่ร้อยละ 48.4 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเด็กที่เห็นโฆษณาบ่อยแต่ไม่นิยมรับประทาน ที่มีอยู่ร้อยละ 37.9

นอกจากนั้น อิทธิพลของการโฆษณาลูกอมและทอฟฟี่ทางโทรทัศน์มีผลต่อความนิยมรับประทานในกลุ่มเด็กนักเรียนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ โดยพบว่าเด็กอายุ 6-9 ปี ที่เห็นโฆษณาบ่อยและนิยมรับประทานลูกอมทอฟฟี่ มีสูงถึงร้อยละ 70.4 เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาและไม่นิยมรับประทานลูกอมทอฟฟี่ มีสูงถึงร้อยละ 79.7 อาจกล่าวได้ว่า ในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 6-9 ปี ถ้าไม่ค่อยเห็นการโฆษณาหรือไม่เห็นเลยน่าจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่นิยมรับประทานลูกอมทอฟฟี่ตามไปด้วย

เช่นเดียวกับเด็กอายุ 10-12 ปี ที่เห็นโฆษณาและนิยมรับประทานลูกอมทอฟฟี่ มีสูงถึงร้อยละ 66.7 เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาและไม่นิยมรับประทานลูกอมทอฟฟี่ ที่มีสูงถึงร้อยละ 77.1 จึงสามารถกล่าวได้ว่า ถ้าเด็กทั้งสองกลุ่มอายุเหล่านี้ไม่ค่อยเห็นการโฆษณาหรือไม่เห็นเลยน่าจะทำให้เด็กบริโภคลูกอมและทอฟฟี่น้อยลงหรือไม่รับประทานเลยตามไปด้วย

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กที่ถูกศึกษาครั้งนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ดูโทรทัศน์ทุกวันในช่วงจันทร์-ศุกร์

และร้อยละ 85.0 ที่ดูโทรทัศน์ในช่วงเสาร์และอาทิตย์ โดยใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ย 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ดูการ์ตูน เป็นอันดับแรก รองลงมาคือร้อยละ 39.9 ดูเกมโชว์ ร้อยละ 33.4 ดูรายการข่าว และร้อยละ 30.5 ดูรายการเด็ก ตามลำดับ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 บอกว่า เห็นโฆษณาขนมกรุบกรอบ/ลูกอมทางโทรทัศน์บ่อยถึงบ่อยมาก ร้อยละ 27.5 ระบุว่าไม่บ่อย

"เด็กส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 นิยมรับประทานขนมกรุบกรอบเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 29.8 นิยมรับประทานทุกวันหรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.3 นิยมรับประทานลูกอม/ทอฟฟี่เป็นประจำ ร้อยละ 67.3 นิยมรับประทานน้ำอัดลมเป็นประจำ" ดร.นพดล กล่าว

ชี้ ขนม อันตรายต่อเด็ก

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นองค์กรอิสระผู้บริโภค หัวข้อ ปกป้องเด็กไทยจากการโฆษณาขนมเด็ก โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯและเลขานุการคณะทำงาน ระบุปัญหาบริโภคขนมของเด็กกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในไทย ซึ่งสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อสภาพคนไทยโดยภาพรวมในปี 2548 พบว่า ลำดับที่ 5 คือ บริโภคน้ำตาลในนมและขนมเด็ก โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบที่เด็กนิยมซื้อมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำมาก เน้นความมัน เค็ม เต็มไปด้วยสารอาหารที่เกินพอดี และมีผงชูรสเป็นสารปรุงรส ส่งผลให้เกิดโรคในเด็ก เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากด้วย ซึ่งถือว่าสื่อโฆษณาเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการบริโภคขนมกรุบกรอบ/ลูกอมทอฟฟี่ของเด็ก โดยพบว่าใน 3 ชั่วโมง มีโฆษณาขนมบ่อยถึง 130 ครั้ง จึงต้องการให้มีมาตรการควบคุมห้ามการโฆษณาขนมขยะต่อเนื่องจากการห้ามโฆษณาเหล้า

น.พ.ประวิทย์ ระบุด้วยว่า

เตรียมรวบรวมข้อเสนอแก้ปัญหาเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งเป็น 6 เรื่อง คือ 1.การโฆษณา ต้องตัดทอนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรให้การโฆษณามีของแจก ของแถม 2.ฉลากโฆษณา บังคับให้ขนมทุกชนิดแสดงฉลากโภชนาการ มีความชัดเจน และขนมบางประเภทต้องคำเตือน 3.โรงเรียน ควรมีมาตรการกำหนดให้โรงเรียนทุกแห่งเลิกจำหน่ายขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม อีกทั้งควรมีหลักสูตรให้เด็กรู้ทันการโฆษณา 4.ผู้ประกอบการ เน้นผู้ประกอบการควรมีจริยธรรมในการโฆษณา

นอกจากนี้ 5.สถาบันครอบครัว ผู้ปกครองควรรวมพลังเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดันให้เกิดการควบคุมโฆษณาขนมเด็กและปกป้องเด็กจากภัยที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานขนมกรุบกรอบ และ 6.องค์การอิสระผู้บริโภค ประสานงานระหว่างภาคีและเครือข่ายต่างๆ เพื่อไม่ให้ผูกขาดการเสนอมาตรการจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากข้อเสนอทั้ง 6 เรื่อง ต้องการให้มีผลบังคับใช้ในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2550

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์