ชะลอสั่งห้าม โฆษณาเหล้า

"ชะลอการห้ามโฆษณาเหล้าออกไปอีก"


บริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต่อลมหายใจไปอีกเฮือก ในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อที่ประชุม ครม.โยนเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอและผ่านความเห็นชอบของ ครม.ให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้ง ทำให้การห้ามโฆษณาเหล้าที่จะดีเดย์บังคับใช้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ต้องชะลอออกไป

ทั้งนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 29 พ.ย. มีการประชุม ครม. ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีหลายคนอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งวินิจฉัยว่า อย.ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งห้ามโฆษณาเหล้าได้ โดยในช่วงหนึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ

ได้เอ่ยปากถาม นพ.มงคล ว่า เรื่องผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว หากสื่อมวลชนซักถามเรื่องนี้ท่านจะไปชี้แจงเขาอย่างไร นพ.มงคลได้ ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขจะประชุมคณะกรรมการอย.ในวันที่ 29 พ.ย. และส่งหนังสือขอให้กฤษฎีกาไปทบทวนการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยขอให้นำเรื่องเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ หรือจะนำเอาคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 คณะมาพิจารณาร่วมกันก็ได้ ซึ่งการบังคับใช้คำสั่งห้ามการโฆษณาเหล้าที่จะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. ก็ต้องชะลอออกไปก่อน

"เรื่องเงินสนับสนุนกีฬาใช้ภาษีทดแทนได้"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ครม.ต่างแสดงความเห็นว่า เป็นการออกกฎหมายที่มองในภาพรวม ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการขาย การบริโภค และการห้ามการโฆษณา รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดเหล้าอย่างครบวงจร ซึ่ง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เป็นตัวแทนเข้ามาชี้แจงต่อ ครม.ถึงสิ่งที่กรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าหากมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมา

การรับเงินจากบริษัทจำหน่ายสุรา มาสนับสนุนด้านการกีฬาและวัฒนธรรมจากภาคเอกชนก็จะทำไม่ได้อีกแล้วว่า สามารถรับได้ เพราะเงินจากบริษัท สุราเหล่านั้น มีจำนวนไม่มากนักคิดเป็นแค่ 100 ล้านบาทเท่านั้น และยังสามารถนำเงินจากภาษีสุราและบุหรี่ปีละ 3% หรือคิดเป็นประมาณ 3,000 ล้านบาท มามอบสนับสนุนแทนได้ โดยขอให้ไปดูรูปแบบที่เคยดำเนินการกับกองทุน สสส.ที่ดำเนินการมาแล้ว

"มติเห็นชอบ พรบ.เหล้า"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมา โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเรื่องให้กฤษฎีกาทบทวนการตีความอีกครั้ง โดย พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณให้สังคมรู้ว่ารัฐบาลชุดนี้มีความเห็นต่อนโยบายลดละเลิกอบายมุขอย่างไร

ต่อมา ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ครม.ได้พิจารณา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่มีมติมอบให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รับเรื่องนี้ไปหารือรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงสาธารณสุขได้นำร่างนี้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็น เนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย อาทิ การกำหนดคำนิยาม กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และมีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการ และเลขานุการ และมีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ

"กำหนดข้อห้าม ใน พรบ."


ร.อ.ยงยุทธยังกล่าวอีกว่า ในร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัด จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นในกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบรรจุกัณฑ์ และจัดให้มีฉลาก ข้อความเตือน กำหนดให้มีการห้ามขาย ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด หรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานที่ราชการ สถานศึกษา หอพัก

สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกำหนดห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และสื่อต่างๆ ในการแสดง การประกวด การแข่งขัน หรือการประกอบกิจกรรมอื่น ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและระวางโทษปรับไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน

"ให้เวลาเอกชนได้ปรับกลยุทธ์"


ส่วนการโฆษณาที่ปรากฏในการถ่ายทอดสด จากต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์ ครม. มีมติว่า ควรอนุโลมการถ่ายทอดจากต่างประเทศและไทยไปต่างประเทศ อีกประเด็นที่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมให้กระทรวงสาธารณสุขไป ดำเนินการปรับ คือ การให้เวลาแก่เอกชนในการปรับตัวเพื่อให้ปฏิบัติการได้ตาม พ.ร.บ.นี้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.นี้จะนำเข้าสู่กฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ต่อมา นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้ข้อสรุปว่า จะมีการส่งหนังสือไปให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนข้อกฎหมายเรื่องดังกล่าว ที่เห็นว่าเป็นไปโดยมิชอบอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าเมื่อมีความคิดเห็นขัดแย้งกันเช่นนี้ คงมีการนำเรื่องเข้าหารือกันในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใหญ่พิจารณา หาก คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใหญ่พิจารณาออกมาว่า อย่างไร ก็จะปฏิบัติตามนั้น ทั้งนี้ คงไม่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร และยา เพราะจะต้องใช้เวลามากพอสมควร

ส่วนการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ที่จะมีผล บังคับใช้ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ คงต้องชะลอออกไปก่อน นอก จากนี้ ครม.ยังได้หารือเรื่อง พ.ร.บ.การควบคุมการบริโภคสุรา ซึ่งในที่ประชุม ครม.หลายคนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ซึ่งจะมีการรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้เพื่อนำไปปรับปรุง และส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ก็จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

"เครือข่ายองค์กรงดเหล้า"


เช้าวันเดียวกัน ก่อนการประชุม ครม. เครือข่าย องค์กรงดเหล้า 200 องค์กรทั่วประเทศ กว่า 100 คน นำโดย นายคำรณ ชูเดชา ตัวแทนเครือข่ายสกัดนักดื่มหน้าใหม่ เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทบทวนการตีความประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกสื่อตลอด 24 ชั่วโมงใหม่ โดยไม่ใช้คณะกรรมการชุดเดิมพิจารณา

เนื่องจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดเดิมที่ ระบุว่า ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ไม่สามารถ นำมาบังคับใช้ได้นั้น เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ธุรกิจน้ำเมา 2. เร่งอนุมัติให้ พ.ร.บ.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่าน ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ เครือข่ายฯจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาล หากยังมีการยับยั้งมาตรการนี้ เครือข่ายจะประสานกับภาคประชาสังคมทั่วประเทศเรียกร้องความเป็นธรรมจนถึงที่สุด

"แก้ไขยากเพราะปัญหามีมานานมาก"


อีกด้านที่วัดยานนาวา กทม. เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา 22 จังหวัด ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกสื่อตลอด 24 ชั่วโมง พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดยานนาวา ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายฯ กล่าวว่า การ แก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับว่ายากมาก เพราะสังคมไทยปล่อยปัญหานี้หมักหมมมานาน การแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบ ฉะนั้นอยากให้รัฐบาลเดินหน้านำกฎหมายห้ามโฆษณาออกมาบังคับใช้ให้ได้

ขณะเดียวกันสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์ถึงการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีใจความสรุปว่า เมื่อกฤษฎีกาประกาศว่า การห้ามโฆษณาของ อย.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชัดเจนว่าจำเป็นต้องหยุดการบังคับใช้ ตามมาตรการดังกล่าวโดยสิ้นเชิง จนกว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายที่ถูกต้อง หากนโยบายใดกระทบต่อสิทธิ และหน้าที่ของประชาชน ที่จะดำเนินธุรกิจของตนโดยชอบ หรือนโยบายนั้น ไม่ถูกต้อง หรือสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ผู้บังคับใช้กฎหมายจะ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใสปราศจากอคติ การจะ ห้าม หรือควบคุม ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายและสอดส่องผู้ประกอบธุรกิจที่อาจละเมิดสิทธิผู้บริโภค



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์