สาธารณสุขลุยตรวจอาหารพื้นเมือง หวั่นผู้ประกอบการใส่ดินประสิวในไส้กรอก กุนเชียง แหนม และหมูแผ่น เกินมาตราฐาน
วันนี้ (16 พ.ย.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร ภายใต้โครงการอาหารปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ทั้งผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และผู้ผลิตหลายแห่ง ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย อาทิ อย่างในภาคอีสาน ที่มีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ประเภทกุนเชียง ไส้กรอก และแหนม ซึ่งได้มีการตรวจหาปริมาณไนเตรท ไนไตรท์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าดินประสิว ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ จากรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 อุดรธานี จำนวน 33 ตัวอย่าง
จากผู้ประกอบการ 19 ราย พบผลิตภัณฑ์เข้ามาตรฐานจำนวน 25 ตัวอย่าง และมีเพียง 8 ตัวอย่างเท่านั้น ที่มีไนเตรท ไนไตรท์ เกินมาตรฐาน โดยพบในผลิตภัณฑ์กุนเชียง 5 ตัวอย่าง ไส้กรอก 2 ตัวอย่าง และแหนม 1 ตัวอย่าง ซึ่งปริมาณที่พบไนไตรท์อยู่ในช่วง 0-62 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไนเตรทพบในช่วง 148-7,573 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และหากผู้บริโภคกินอาหารที่มีปริมาณไนเตรท ไนไตรท์ สูง อาจทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ยิ่งถ้าได้รับจำนวนมากจะเกิดอาการปวดท้อง และกล้ามเนื้อไม่มีแรง องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดมาตรฐานปริมาณที่ร่างกายได้รับไนเตรทต่อวันไม่เกิน 3.7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไนไตรท์ต่อวันไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ดังนั้น หากมีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ก็จะสามารถรับไนเตรทได้ไม่เกิน 185 มิลลิกรัม และรับไนไตรท์ได้ไม่เกิน 3.5 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตรวจพบไนเตรท ไนไตรท์ ในอาหารดังกล่าวเกินมาตรฐาน ก็ได้แจ้งให้ทางผู้ประกอบการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีคุณภาพ ก่อนวางจำหน่ายแล้ว
ด้าน นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไนเตรท ไนไตรท์ มีคุณสมบัติทำให้เนื้อมีสีชมพู และยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อคลอสทิเดียม โบทูลินัม แต่หากมนุษย์บริโภคเข้าไปอาจก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์พัฒนาคุณภาพการผลิต โดยลดการใช้สารไนเตรท ไนไตรท์ ประกอบอาหาร เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัย.