ซูจีเปิดปราศรัยปลุกใจคนพม่าไขว่คว้าเสรีภาพ

"ออง ซาน ซูจี” ประกาศลั่นขอฟังความเห็นของประชาชนก่อนตัดสินใจ หลังได้รับอิสรภาพ ขณะที่ทั่วโลกร่วมยินดี

วันนี้ ( 15 พ.ย.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของพม่าวัย 65 ปี และ นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้ว หลังได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณแต่ภายในที่พัก เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความยินดีของประชาชนในพม่า ซึ่งมองว่าเธอคือสัญลักษณ์ของความหวังและเสรีภาพของพวกเขา รวมถึงกระแสตอบรับด้วยความชื่นชมจากนานาชาติ
   
นางซูจีได้กล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัว

ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) โดยยืนอยู่บนเก้าอี้ภายในรั้วสำนักงานใหญ่พรรค รวบผมด้วยมาลัยดอกไม้ตามแบบฉบับของสาวพม่า สวมผ้าโสร่งและเสื้อสีน้ำเงินเข้มอันเป็นชุดแต่งกายประจำชาติและเอกลักษณ์ประจำตัวเธอ ถือไมค์กล่าวกับฝูงชนจำนวนมากที่มารอฟัง
   
ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า กล่าวว่า ต้องการฟังเสียงความเห็นของประชาชนก่อน

หลังจากนั้นถึงจะตัดสินใจว่าต้องการจะทำอะไรต่อไป แต่อยากทำงานร่วมกับกลุ่มพลังประชาธิปไตยทั้งหมด ตนมีความเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชน และ การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า พื้นฐานของเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพของการพูด แม้ตัวคุณจะไม่ใช่นักการเมือง แต่การเมืองก็จะเข้ามาหาคุณ อย่างไรก็ตาม เธอไม่เคยต่อต้านหรือเป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐบาลทหารซึ่งสั่งควบคุมตัวเธอไว้ถึง 15 ปี จากช่วงระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา


ต่อมานางซูจีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่ไม่ยอมแสดงความเห็นโดยตรงว่า จะขอให้ประเทศตะวันตกเลิกใช้มาตรการคว่ำบาตร

ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ประชาชนคนธรรมดาได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะคณะรัฐบาลทหารพม่ายังคงผูกขาดระบบเศรษฐกิจไว้ในกำมือ โดยนางซูจีกล่าวแต่เพียงว่า หากประชาชนต้องการให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ตนก็จะขอพิจารณาเรื่องนี้ เราจะขอให้ทุกฝ่ายช่วยเรา ทั้งชาติตะวันตกตะวันออก ทั่งโลกช่วยเรา เริ่มด้วยการเจรจา
   
รายงานข่าวระบุว่า ความสนใจมุ่งไปที่ประเด็นว่า

นางซูจีจะสามารถรวบรวมความสามัคคีปรองดองของกลุ่มฝ่ายค้านให้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกประเทศตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นเรื่องตบตา เพื่อขยายอำนาจของกองทัพ อยู่หน้าฉากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีรายงานเรื่องการคุกคามและฉ้อโกง
   
พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีจึงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งทำให้เกิดความเห็นแตกแยกในกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน

หลายคนจึงมองว่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้นี้เป็นความหวังเพื่อเสรีภาพของพม่า เช่น นายนะยี มิน ผู้นำเยาวชนของพรรคเอ็นแอลดี กล่าวว่า ประเทศของเราต้องเป็นประชาธิปไตย อนาคตของเราขึ้นอยู่กับออง ซาน ซู จี เธอให้ความหวังและความกล้าหาญกับเรา เธอเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถปลดปล่อยเราจากระบอบผู้นิยมอนาธิปไตย
   
ส่วนปฏิกิริยาจากนานาชาติ หลายประเทศได้แสดงความยินดีกับการปล่อยตัวนางซูจีในครั้งนี้ เช่น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ

กล่าวยกย่องนางซูจีว่าเป็นวีรสตรีของตน นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวถึงนางซูจีว่าเป็นแรงบันดาลใจของโลก แต่คณะรัฐบาลทหารพม่าต้องปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และ ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ คณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้เชิญนางซูจีให้ไปเยือน เพื่อกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลสันติภาพตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งเธอได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้เมื่อปี 2534 โดยนายธอร์บียอร์น จักลันด์ ประธานคณะกรรมการฯกล่าวว่า จะขอให้ทางการพม่าอนุญาตให้เธอเดินทางมากรุงออสโล โดยไม่จำเป็นต้องขอหลักประกันว่าต้องเดินทางกลับประเทศของตนหลังเสร็จภารกิจนี้

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์