ดัน 10 มาตรการ คุมโฆษณาเหล้า

"ห้ามโฆษณาเหล้า ตีความกฎหมายเพื่อใคร"


ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อบ่ายวันที่ 26 พ.ย. มีการเสวนาเรื่อง ห้ามโฆษณาเหล้า ตีความกฎหมายเพื่อใคร โดยมีนักกฎหมายตัวแทนองค์กรเครือข่ายด้านผู้บริโภค และเครือข่ายงดเหล้า อาทิ นายบรรเจิด สิงคเนติ คณะกรรมการคตส. นายคมสัน โพธิคง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มสธ. และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายต้านคอรัปชันฯ เข้าร่วมแสดงความเห็นคัดค้านการตีความกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายบรรเจิดกล่าวว่า การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์รัฐ ตนเห็นว่า อย. ได้ใช้อำนาจถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมาใช้ควบคุมการโฆษณาเหล้า เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่ใช่ กฎหมายที่ซ้อนกัน แต่เป็นการใช้กฎหมายเสริมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ทางออกในเรื่องนี้ อย.ควรเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนการตีความใหม่ และเสนอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการออกคำสั่งห้ามการโฆษณาสุราตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เป็นกรณีเร่งด่วน รวมทั้งเร่งผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เร็วที่สุด ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะได้ประกาศนโยบายไปแล้วว่า จะสร้างสังคมสมานฉันท์ สร้างสังคมเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น ก็ไม่ควรปล่อยให้ข้อกฎหมายใดมาเป็นอุปสรรคต่อการห้ามโฆษณาเหล้า

"คำสั่ง อย. ประเด็นร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ"


ทางด้านนายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ช่วยเหลือภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) ได้แถลงเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ว่า ทาง สชอ.ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ ว่า อย.ไม่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับคำสั่งห้ามของ อย. เป็นประเด็นร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อตอนเริ่มต้นไม่ยอมให้ผู้ที่มีส่วน ได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นตามครรลองของประชาธิปไตย ไม่สนใจว่านโยบายสาธารณะคือเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันรับผิดชอบ โดยเริ่มต้นจากชุมชนและ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

และ สชอ.ได้เสนอประมวลจริยธรรม 11 ข้อ ที่ภาคสังคมธุรกิจได้ลงนามและให้สัตยาบันกันไว้แล้ว สนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนที่ยังขาดความสมบูรณ์ถูกเติมเต็ม และยังครอบคลุมกิจกรรมการตลาดทั้งหมดของแอลกอฮอล์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับการทำการตลาดทั่วโลก รวมถึงผลิตภัณฑ์ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่ใช้ช่องทางสื่อมวลชน หรือช่องทางอื่น ในการส่งเสริมการจำหน่าย ณ จุดขาย หรือการสื่อสารกับนักดื่มหน้าใหม่ๆ เช่น เว็บไซต์ บรรจุภัณฑ์แปลกใหม่, วีดิโอคลิป, มิวสิก วีดิโอ เป็นต้น

"ประมวลจริยธรรม 11 ข้อ"


สำหรับประมวลจริยธรรมทั้ง 11 ข้อ ที่ สชอ.และภาคสังคมธุรกิจเสนอ ได้แก่ 1. การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ 2. ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ 3. ข้อกำหนดว่าด้วยการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ 4. การละเว้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5. ความก้าวร้าวในสื่อโฆษณา 6. ปริมาณแอลกอฮอล์ 7. ประสิทธิภาพทางการแพทย์หรือการรักษาบำบัด 8. การดื่มแอลกอฮอล์และการขับขี่ยานพาหนะ 9. ความสามารถในการเข้าสังคมและความดึงดูดทางเพศ 10. กิจกรรมต่อต้านสังคม 11. กิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยแต่ละข้อจะมีรายละเอียดแนวทางควบคุมและปฏิบัติอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสุราปฏิบัติตามกฎหมายและความรับผิดชอบต่อสังคม อันจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

ส่วนองค์กรที่ลงนามและให้สัตยาบันในการสนับ สนุนประมวลจริยธรรมทั้ง 11 ข้อแล้วดังต่อไปนี้ 1. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2. สมาคมโรงแรมไทย 3. สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย 4. สมาคมภัตตาคารไทย 5. สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย 6. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 7. สมาคมป้ายและโฆษณา 8. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม 9. มูลนิธิธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

"เสนอแนวควบคุมโฆษณาอีก 10 ข้อ"


10. มูลนิธิแพทย์ทางเลือก แห่งประเทศไทย 11. บริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด 12. บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิก บริเวอรี่ จำกัด 13. บริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด 14. บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด 15. บริษัท คงทองโฆษณา จำกัด 16. บริษัท ที.อาร์.พี. กรุ๊ป (1992) 17. บริษัท กรุงเทพแคนวาส จำกัด 18. Enterprise Soft 19. V & J Group Design 20. FIELD IMPACT (THAILAND) CO., LTD. 21. กลุ่มผู้ประกอบการ INKJET 22. กลุ่มจัดกิจกรรมการตลาด

นายบุญช่วยเปิดเผยอีกว่า สชอ.ยังได้เสนอแนวทางการควบคุมโฆษณาอีก 10 ข้อ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ได้ให้คำแนะนำและมีตัวอย่างที่ทำสำเร็จมากมายในประเทศต่างๆทั่วโลก สชอ. อยากจะชี้ให้เห็นว่าการห้ามโฆษณาไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพียงแต่เปลี่ยนกรอบความคิดมาเป็นจัดระเบียบร่วมกัน จะควบคุมโฆษณาทุกอย่างได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในที่ลับและที่แจ้งอย่างมืออาชีพ และขอให้เปลี่ยนกรอบความคิดที่ว่าสุราเป็นสิ่งไม่ดี ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่เราต้องควบคุมการดื่มไม่ใช่ห้ามดื่ม


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์