ปีนัง 10 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การทำประมงมากเกินไปในทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ปลาทะเลมีจำนวนลดลงอย่างมากและหาคู่ได้ยากขึ้น สาเหตุเกิดจากการทำประมงอวนลาก การรุกป่าโกงกาง และความต้องการบริโภคปลาชั้นดี
นายเอ็ดเวิร์ด อัลลิสัน จากศูนย์ประมงโลกในรัฐปีนังของมาเลเซีย กล่าวว่า มีการจับปลาทะเลตัวใหญ่อย่างปลาเก๋า และปลากะพง มากเกินไป
จนจำนวนลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ปลาต้องว่ายเป็นระยะทางไกลขึ้นเพื่อหาคู่ สาเหตุหลักอย่างหนึ่งคือการทำประมงอวนลากขนาดใหญ่ เพราะแผ่นโลหะขนาดใหญ่และยางรถยนต์ที่ถ่วงน้ำหนักอวนไว้กวาดทำลายทุกอย่างรวมทั้งหญ้าทะเลบนพื้นทะเล ขณะที่แหล่งอาศัยของลูกปลาก็ลดลงเพราะป่าโกงกางที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยถูกรุกทำลายจากการพัฒนาชายฝั่ง เช่น การทำรีสอร์ท อีกปัจจัยที่ทำให้ปลาลดลงมากคือความต้องการบริโภคปลาชั้นดีของคนในภูมิภาคเองรวมทั้งชาวจีน และชาวฮ่องกง
ข้อมูลของศูนย์ประมงโลกเผยว่า ปี 2508 อ่าวไทยมีปลามากกว่า 30 ปีให้หลังถึง 10 เท่า
ส่วนในมาเลเซียปลาลดลงร้อยละ 80-90 และในฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ 46-78 แม้ไม่มีข้อมูลของประเทศอื่นแต่เชื่อว่าข้อมูลของสามประเทศนี้สะท้อนถึงปริมาณปลาทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าลดลงมาก นายอัลลิสัน ชี้ว่า การใช้ระเบิดไดนาไมต์ และไซยาไนต์จับปลาตามแนวปะการัง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันกว้างขวางในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็เป็นอันตรายร้ายแรง เขาเรียกร้องให้ทางการดำเนินมาตรการอนุรักษ์ เช่น ส่งเสริมการใช้เบ็ดและอวนที่จับเฉพาะปลาที่ต้องการ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ตลาดมีความต้องการบริโภคสูง.-สำนักข่าวไทย
ปลาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงอย่างน่าใจหาย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ปลาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงอย่างน่าใจหาย
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!