นางแสงอรุณ มูลสถาน ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดพะเยา และประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ ต.บ้านเหล่า อ.แม่ใจ จ.พะเยา กล่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาทางหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) โดยสำนักงาน ปภ.จังหวัดพะเยา ได้ติดต่อสั่งให้ตนผลิตผ้าห่มจำนวน 9,000 ผืน จำหน่ายในราคาผืนละ 240 บาท แต่ปรากฏว่าเกิดปัญหาที่ส่วนกลางจึงไม่มีการซื้อผ้าห่มในปีที่ผ่านมา ทำให้ผ้าห่มที่กลุ่มของตนผลิตไว้ค้างสต๊อค
“เมื่อราชการไม่รับซื้อตามที่สั่งไว้ เดิมตั้งใจจะไปร้องเรียนที่ส่วนกลางเพื่อขอความเป็นธรรม แต่ข้าราชการได้ร้องขอไว้และรับปากจะรับซื้อ เมื่อถึงเวลานี้หน่วยงานของ ปภ.ต้องยึดหลักเกณฑ์คือซื้อของกลุ่มที่เข้าไปร้องเรียนก่อน จากนั้นหากเหลือจึงจะเลือกซื้อจากกลุ่มแม่บ้าน ที่หนักไปกว่านั้นทราบว่าปีนี้ราคากลางผ้าห่มลดลงจากผืนละ 240 เหลือ เพียง 180 บาท หากไม่มีระบบเงินทอนคงไม่ห่วง แต่หากมีเงินทอนไม่รู้ว่ากลุ่มแม่บ้านจะขายได้หรือไม่ คงต้องร้องขอไปถึงรัฐบาลส่วนกลางช่วยเหลือหากไม่ได้รับความเป็นธรรม” นางแสงอรุณ กล่าว
ขณะที่นางธวัลรัตน์ ไชยอินปัน หน.สำนักงาน ปภ.จังหวัดพะเยา กล่าวว่า การจัดซื้อผ้าห่มเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยหนาว ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งภายใต้ระเบียบของกรม ปภ. โดยเบื้องต้นส่วนกลางให้แนวทางว่าซื้อจากกลุ่มผู้ร้องเรียนปีที่ผ่านมาก่อน จากนั้นจึงจะสามารถหาซื้อจากกลุ่มแม่บ้านได้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแม่บ้านอยู่ในหรือนอกเขตจังหวัดก็ได้ ซึ่งปีนี้ราคากลางผ้าห่มที่ได้มีการสั่งการให้ซื้อราคาไม่เกินผืนละ 180 บาท การจัดซื้อต้องยึดระเบียบเป็นหลัก
ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาจังหวัดพะเยามีโควตาต้องซื้อผ้าห่มจำนวน 25,000 ผืน แต่ปัญหาที่ส่วนกลางจึงไม่สามารถจัดซื้อได้ ส่วนเรื่องเหตุผลที่ส่วนกลางได้ลดราคากลางลงมาจากผืนละ 240 บาท เหลือเพียง 180 บาท คาดว่าจะมีสาเหตุจากที่มีผู้ประกอบการเอกชนบางรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งไม่ใช่กลุ่มอาชีพไปขายตัดราคา ซึ่งระบาดมาถึงภาคเหนือ และประกอบกับกลุ่มอาชีพได้มีการร้องเรียนที่ส่วนกลาง ทำให้จึงมีการลดราคากลางลง สำหรับภาคเอกชนที่ทำเป็นโรงงานจะมีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่กลุ่มอาชีพต้องซื้อวัสดุจากกรุงเทพ ฯ ต้นทุนจึงสูงกว่าโรงงาน หากราคาลดลงอาจจะทำให้กลุ่มอาชีพอยู่ลำบาก เพราะต้องประสบทั้งภาวะขาดทุนและดอกเบี้ยเงินกู้จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้หากว่ามีระบบเงินทอนเข้ามาแทรกและกดราคาผ้าห่มของกลุ่มอาชีพจะยิ่งตอกย้ำให้กลุ่มอาชีพลำบากมากขึ้น