ผู้อพยพทะลักชายแดนต่างชาติซัดเลือกตั้งพม่า


ตรึงกำลังเข้มชายแดนไทย ย้ายผู้อพยพพม่าทะลักเกือบ3หมื่น ผู้นำสหรัฐ-เลขาฯยูเอ็น ยังโจมตีเลือกตั้งพม่า


วันนี้ 9 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า เหตุทหารพม่าปะทะเดือดกับกะเหรียง เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีคนเจ็บ คนตาย รวมถึงชาวพม่าต้องอพยพหนีตายข้ามชายแดนไทยมาหลบภัยกว่าหมื่นคนนั้น

           ล่าสุด นายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ (9พ.ย.)ได้แบ่งผู้อพยพชาวเมียวดีครึ่งหนึ่งจาก 20,000 คน จากกองร้อนตชด.346 มาอยู่ที่แห่งใหม่ คือ ที่วัดไทยวัฒนารามและมีห้องน้ำเพียงพอเพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้เตรียมรองรับชาวเมียวดีที่จะอพยพเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งคาดว่าจะเหลือ1ไม่เกิน 5,000 คน
 
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่าว่า หลังมีการปะทะเมื่อคืนที่ผ่านมาเวลา 22.00 น. จนถึงขณะนี้เหตุการณ์ยังเงียบสงบ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยยังคงตรึงกำลังเข้ม คาดว่าสถานการณ์การเผชิญหน้าจะยาวนานอีกประมาณ 1 สัปดาห์

พ่อเมืองตากสั่งตรึงกำลังดูแลพม่าลี้ภัย
           ด้านนายสามารถ ลอยฟ้า ผวจ.ตาก เปิดเผย การเตรียมพร้อมรับมือ ชาวพม่าที่อพยพเข้ามาลี้ภัย ในพื้นที่ จ.ตาก จากการปะทะกันระหว่าง ทหารพม่าและชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยงดีเคบีเอ ในพื้นที่ จ.เมียวดี ตรงข้ามบ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ว่าขณะนี้ ได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งการดูแลความปลอดภัยชาวบ้านคนไทย บริเวณแนวรอยต่อแล้ว โดยได้อพยพชาวบ้าน ออกนอกพื้นที่แล้วกว่า 200 คน

           ซึ่งจากการคาดการณ์ว่าอาจมีการปะทะกันเกิดขึ้นอีก ในช่วงเช้ามืดวันนี้และจากการตรวจสอบ ก็พบว่า ฝ่ายปะทะกันนั้นมีการเจรจากันทั้งสองฝ่ายอาจส่งผลให้ไม่มีการปะทะก็เป็นได้ ส่วนการดูแลชาวพม่า ที่อพยพมานั้น ก็ได้จัดการดูแลตามหลักมนุษยชน ทุกประการโดยมีจำนวนกว่า 1 หมื่นคน และคาดว่าอาจมีการทยอยมาลี้ภัย เพิ่มขึ้น หากมีการปะทะกันอีก  ทั้งนี้ การดูแลรักษาความปลอดภัย สถานที่ราชการสำคัญ นั้น ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ตรึงกำลังดูแลเข้มและตลอดเหตุการณ์เมื่อวานที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการนำผู้บาดเจ็บ หรือผู้ป่วยของประเทศพม่า มารักษาตัวในประเทศไทย และยังไม่มีการประสานขอทีมแพทย์ หรือพยาบาล เข้าไปดูแลผู้บาดเจ็บในประเทศพม่าด้วย 

ผู้นำสหรัฐ-เลขาฯUNยังโจมตีเลือกตั้งพม่า
          ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกมาย้ำถึงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่าว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ที่รัฐบาลทหารพม่าใช้วิธีฉกฉวยการเลือกตั้งและใช้ความต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวพม่าเป็นตัวประกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลเอง จึงเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้

           ด้านนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ บอกว่า การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่โปร่งใส และไม่ยุติธรรม เขาเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อการปะทะระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และหวังให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์