“ถาวร” ระดม เรือ-ฮ.นำอาหาร สิ่งของช่วยชาวหาดใหญ่จมน้ำเร่งด่วน รมว.ศธ.สั่งปิดโรงเรียนสงขลาแล้ว 1,180 แห่ง
วันนี้ 3 พฤศจิกายน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า ขณะนี้ ความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึงทุกที่ เนื่องจากบางส่วนยังมีน้ำท่วมสูง แต่ภายในวันนี้ หลังจากเรือบรรเทาภัย และเรือที่รัฐบาลส่งมาช่วยเหลือ รวมทั้งเรือที่มีผู้บริจาคมา รวม 40 ลำ เข้ามาถึง คงสามารถเข้าไปให้ความเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ในส่วนที่น้ำท่วมสูงกระแสน้ำเชี่ยวจะได้รับการช่วยเหลือหลังจากเรือหลวงจักรีนฤเบศร มาถึง โดยจะใช้เฮลิปคอปเตอร์นำอาหารเข้าไปหย่อนตามสถานที่ที่เข้าไม่ถึง
รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะเชิญแม่ทัพภาค 4 และนายกเทศบาลนครหาดใหญ่ รวมทั้งฝ่ายการไฟฟ้า เข้าประชุมหารือหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
“มาร์ค”เผยน้ำท่วมหาดใหญ่เริ่มคลี่คลาย
ที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถ.วิภาวดีรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลา ว่า ขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา น้ำเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งเท่าที่ตนคุยกับ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ก็มั่นใจว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ส่วนความช่วยเหลือนั้น ตนคิดว่าสิ่งของจะถูกส่งไปถึง อ.หาดใหญ่ ในวันนี้ (3 พ.ย.) โดยสิ่งของจะถึงมือผู้ประสบภัยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การเข้าไปช่วยเหลือนั้น เรือเครื่องยนต์ธรรมดาไม่สามารถเข้าได้ จึงต้องใช้เรือเครื่องยนต์มีความแรงสูง เพราะน้ำเชี่ยว
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า มีผู้ประสบภัยยังติดอยู่ 1 แสนคน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น
ด้าน พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ กองทัพเรือ กองทัพบก และกองทัพอากาศ ได้ส่งกำลังพลหลายพันนายเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ เรื่องการช่วยเหลือเรื่องอาหารนั้น ทางกองทัพได้ทำอาหารทุกมื้อ มื้อละ 8,000-10,000 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัย
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงอาหารส่งกลางเมืองหาดใหญ่
พล.โท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ระดมกำลังพลของกองทัพบก ลำเลียงอาหาร และเครื่องยังชีพขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ออกไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ ชุมชนสถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในของตัวเมืองหาดใหญ่ที่ยังคงได้รับความเดือดร้อน และการช่วยเหลือเข้าไปค่อนข้างลำบาก เนื่องจากพื้นที่ชั้นในของตัวเมืองหาดใหญ่ แม้โดยรวมระดับน้ำในเขตตัวเมืองจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณย่านเศรษฐกิจการค้าถนนนิพัทธิ์อุทิศ 1 นิพัทธ์อุทิศ 2 และนิพัทธ์อุทิศ 3 ซึ่งมีระดับน้ำเฉลี่ย 1 เมตร
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงรอความช่วยเหลือหลังจากที่ตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีน้ำท่วมสูงถูกตัดขาดจากภายนอก ส่วนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยในเขตตัวเมืองหาดใหญ่ในวันนี้ ทางกองทัพบกได้เสริมเรือเจสกี จำนวน 7 ลำ และเรือท้องแบน เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ความช่วยเหลือไม่สามารถเข้าได้ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของคลองอู่ตะเภา ที่ระดับน้ำยังท่วมสูง
“จุรินทร์”เร่งกู้วิกฤติ รพ.หาดใหญ่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์ของโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากดีเปรสชั่น ในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ตนพร้อมด้วยผู้บริหารได้ประชุมร่วมกับ รอง ผอ.รพ.หาดใหญ่ ว่า สถานการณ์น้ำท่วม รพ.หาดใหญ่ ถือว่าหนักกว่า รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา หลายเท่า เพราะน้ำท่วมสูงเกือบมิดชั้นล่างของ รพ. และขณะนี้ ยังท่วมขังอยู่ จึงได้สั่งการให้แก้ปัญหาเร่งด่วนใน 5 ประเด็น คือ 1.เรื่องไฟฟ้า โดยทีมวิศวกรของทางกระทรวงสาธารณสุข จะลงไปช่วยแก้ปัญหาในวันนี้ 2.เรื่องอาหาร ได้สั่งการให้ รพ.สงขลานครินทร์ จัดส่งอาหารไปยัง รพ.หาดใหญ่ วันละ 1,500 ชุด จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 3.เรื่องระบบซักล้างเสื้อผ้าผู้ป่วย ทาง รพ.สงขลานครินทร์ ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกัน หรืออาจประสาน รพ.เอกชน เข้ามาช่วยรับผิดชอบ
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า 4.เรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วย โดยผู้ป่วยหนัก จำนวน 70 ราย โดย ได้ส่งต่อไปยัง รพ.สงขลานครินทร์ จำนวน 19 ราย และ 5.เรื่องการปรับรูปแบบการให้บริการ คือ ให้ตั้งหน่วยบริการนอก รพ.12 จุด คือ สถานีอนามัย 6 จุด รอบเขตเทศบาล 3 จุด ส่วนแยกสนามบิน ปั๊มน้ำมัน และ รพ.หาดใหญ่เทคโนโลยี อย่างละ 1 จุด เพื่อรองรับผู้ป่วยนอก ที่ไม่สามารถมารับบริการ รพ.หาดใหญ่ ได้ สำหรับหน่วยกู้ชีพสามารถปฏิบัติงานกู้ชีพได้ 45 ราย และได้กำชับไปว่าการค้นหาผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยโรคไต จะต้อวงรีบดำเนินการให้ทันต่อเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมทางพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต รวม 105 ราย บาดเจ็บกว่า 3 แสนราย
สั่งย้าย 20 ผู้ป่วยหนัก รพ.หาดใหญ่ หมดแล้ว
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม กล่าวว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลนาทวี ปริมาณน้ำเริ่มลดลงแล้ว ส่วนโรงพยาบาลหาดใหญ่ ปริมาณน้ำยังทรงตัว ซึ่งทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ส่งต่อผู้ป่วยหนัก จำนวน 20 ราย ไปรักษาโรงพยาบาลแห่งอื่น ๆ หมดแล้ว และหน่วยกู้ชีพได้ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยหนักนอกพื้นที่มาได้ 8 ราย ในส่วนของผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก ทางโรงพยาบาลสามารถดูแลจัดการได้อยู่ตามปกติ
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนอาหารก็เพียงพอในการแจกจ่าย แต่ปัญหาขณะนี้ ก็ต้องดูแลกู้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้กลับมาใช้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังจากปริมาณน้ำลดลง จะมีการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนนอกพื้นที่ 12 จุด โดยมีการระดมจากทีมแพทย์ใน 13 จังหวัด ซึ่งจะออกให้บริการผู้ป่วยทางด้านกาย จิตใจ และสุขอนามัย สำหรับโรงพยาบาลนาทวี คาดว่า ภายใน 1-2 วัน สามารถเปิดให้บริการได้ ส่วนโรงพยาบาลหาดใหญ่ 57 วัน ก็สามารถกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบได้เช่นกัน
สั่งปิดโรงเรียนที่สงขลาแล้ว 1,180 แห่ง
ที่รัฐสภา นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึง ความเสียหายของโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัยในภาคใต้ในขณะนี้ ว่า ตนได้มอบหมายให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เข้าไปประสานกับทางศูนย์ช่วยเหลือที่แต่ละจังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อเข้าไปดูแลในการใช้สถานศึกษา เป็นพื้นที่พักพิงของประชาชน นอกจากนั้น ได้สั่งให้เลขาธิการสำนักงานการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สกอ.) เร่งรัดโอนเงินที่ ครม.อนุมัติให้จากเขตพื้นที่การศึกษา 100 เขต เขตละ 200,000 บาท เพื่อไปช่วยเหลือครู และนักเรียนในเบื้องต้น ส่วนการช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น ห้องสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแทน จะช่วยเหลือในลำดับถัดไป
นายชิณวรณ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาที่ ร.ร.หาดใหญ่เฉลิมรัฐประชาสรรค์ โดยให้ ผอ.โรงเรียน และพื้นที่การศึกษา ประสานงานร่วมกัน ในการเข้าไปช่วยเหลือ มอบถุงยังชีพ รวมทั้งช่วยเหลือนักเรียนกว่า 400 คน ที่ยังติดค้างอยู่ภายใน ร.ร.หาดใหญ่วิทยาคาร ซึ่งขณะนี้ อพยพไปอยู่ที่มัสยิดที่นาเสน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ นอกจากจาก จ.สงขลา ได้มอบให้พื้นที่เขตการศึกษา วิทยาลัยเกษตร ไปพูดคุย เพื่อเปิดสถานให้ประชาชนเข้ามาพักพิงได้ ทั้งนี้ ตนจะลงพื้นที่ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพื่อติดตามความเสียหายของทั้ง 2 โรงเรียน ที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก คือ ที่ ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย และ ร.ร.หาดใหญ่ประชานุกูล อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมกระทรวงศึกษาธิการได้ปิดสถานศึกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พ.ย.รวม 1,180 แห่ง และในวันที่ 4 พ.ย. ก็จะประเมินอีกครั้งว่า จะสามารถเปิดทำการได้เมื่อไหร่
นร.ติดมัสยิดนับร้อย ขาดอาหารช่วยที่หาดใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มวิกฤตในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ บางพื้นที่น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ขณะเดียวกัน ที่บริเวณโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เด็กนักเรียนกว่า 400 คน ต้องติดอยู่ในโรงเรียน หลังจากกระแสน้ำเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่โรงเรียนตั้งแต่เมื่อหัวค่ำวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เด็กนักเรียนต้องติดอยู่ภายในหอพักประจำของโรงเรียน
นายยูซูฟ นิมะ ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร เลขที่ 443/6 หมู่ 1 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า น้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร ทำให้เด็กนักเรียนกว่า 400 คน ต้องติออยู่ในโรงเรียน ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นห่วงบุตรหลาน ได้ลงทุนซื้อเรือเข้ามารับบุตรหลานที่ติดอยู่ภายในหอพัก ซึ่งขณะนี้ ได้ขนย้ายนักเรียนออกมาจากหอพักทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีอีก 120 คน ที่ยังคงติดอยู่ที่มัสยิดดีนุลอิสลาม (นาแสน ) ม.6 ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างการรอการช่วยเหลือในการเดินทางกลับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ผมพยายามประสานงานราชการเข้ามาช่วยเหลือ แต่ยังไม่สามารถติดต่อใครได้ ขณะนี้ เด็กกำลังขาดแคลนอาหารมาก ล่าสุด นักเรียนได้ทานข้าวตั้งแต่เมื้อเที่ยง ของวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา จากนั้น ก็มีเพียงขนมปัง แยม และโรตี ที่ชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบมัสยิดนำมาช่วยเหลือ จึงต้องการความช่วยเหลือมาก ทั้งเรือ รถบรรทุกในการขนย้ายเด็ก และอาหาร” นายยูซูฟ กล่าวขอความช่วยเหลือ
เมืองคอน 5 อำเภอ จมใต้น้ำชาวบ้านระทม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดฝนตกหนักในหลายอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ติดต่อกันหลายวัน ทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.นครศรีธรรมราช และบ้านเรือนของราษฎรที่อาศัยริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยถูกน้ำทะเลหนุน ท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ต้นไม้ใหญ่ล้มทับบ้านเรือนประชาชนพังยับเยิน สวนยางพาราราบเป็นหน้ากลองนับพันไร่ จนประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วจังหวัดในขณะนี้
และล่าสุด เมื่อคืนที่ผ่านมาเกือบตลอดทั้งคืน ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่หลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.เมือง พระพรหม ลานสกา พรหมคีรี ร่อนพิบูลย์ ทำให้ระดับน้ำที่ทรงตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำจากเทือกเขาหลวงไหลทะลักเข้าท่วมในตัวเมืองนครศรีธรรมราชอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนในเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ต้องรีบกุลีกุจอขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง ในขณะที่ นายสมนึก เกตุชาติ นายกทศมนตรีนคร นครศรีธรรมราช ต้องระดมกำลังอพยพประชาชนไปอาศัยที่โรงเรียนวัดศาลามีชัย โรงเรียนสมาเมือง โรงเรียนวัดศรีทวี โรงเรียนวัดใหญ่ และโรงเรียนวัดท่าโพธิ์ แห่งละกว่า 100 ครัวเรือน
“ชุมชนตลาดหัวอิฐ ตลาดพืชผล ตลาดบัวตอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการค้าขายขนาดใหญ่ของจังหวัด น้ำไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ถนนในเขตเทศบาลหลายสายรถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้”
โดยเฉพาะถนนเทวบุรี เขตทศบาลนคร นครศรีธรรมราช เกือบตลอดทั้งสาย ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 ซม. ในขณะที่ บ้านเรือนของประชาชนสองฝั่งถนนถูกน้ำท่วมอย่างหนัก โดยเฉพาะบริเวณสามแยกข้ามหมู่บ้านธารริน น้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร และยังไหลเชี่ยวกราก ทำให้รถจักรยานยนต์หลายคันพัดตกลงไปในคูถนน จมหายไปทั้งคัน โชคดีที่ที่ชาวบ้านสามารถช่วยเหลือคนขับรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่ ถนนทางข้ามหมู่บ้านธารริน รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทำให้หมู่บ้านธารรินถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทันที และวัวของ นายกรียงไกร บุปผากิจ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 086 หมู่ 8 ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ถูกกระแสน้ำพัดจมหายไป
“แม้แต่หน่วยงานราชการที่อยู่สองฝั่งถนนทวบุรี ไม่ว่าจะเป็น อบจ.นครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ควบคุมโรคที่ 11 สำนักงานบังคับคดี รวมทั้งโรงแรมทรงไทย กลายเป็นเมืองบาดาลไปโดยปริยาย ในขณะที่ ชุมชนบ่อทรัพย์บ้านเรือนของราษฏรจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 100 หลังคาเรือน เทศบาลต้องอพยพราษฏรประมาณ 150 ชีวิต มาอาศัยชั่วคราวที่โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง โรงเรียนในตัวเมืองนครศรีธรรมราชปิดยาว ไปเปิดในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย.2553”
ส่วนอำเภอรอบนอก เช่น อ.หัวไทร เชียรใหญ่ ปากพนัง ชะอวด นบพิตำ ท่าศาลา และ อ.สิชล ระดับน้ำยังท่วมสูงเป็นบริเวณกว้าง นายสันต์ เงินถาวร นายช่างระดับ 8 ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยได้มอบเงิน จำนวน 30,000 บาท ให้กับนายอำเภอหัวไทร เพื่อนำไปใช้ในการบรรจุกกระสอบทราย แจกจ่ายประชาชนใช้วางเป็นแนวกันน้ำเข้าท่วมบ้าน และยังนำถุงยังชีพ 700 ชุด ไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ส่วนที่ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีบริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งข้าราชการครู ซึ่งโรงเรียนปิด ได้ทยอยนำข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค มามอบช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัยในภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง
ล่าสุด ฝนได้หยุดตกแล้ว และมีดวงอาทิตย์สาดส่องลงมาเป็นครั้งแรกในรอบ 7 วัน หากไม่มีฝนตกซ้ำลงมาคาดว่า สถานการณ์ความรุนแรงจะลดลงจนเกือบปกติภายในวันสองวนอย่างแน่นอน ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่ได้รับผลกระทบกับน้ำทะเลหนุนในแต่ละปี กว่าจะกลับข้าสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลานาน 1-2 เดือน
โรงเรียนนราฯ ปิดกว่า 100 แห่ง น้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงาน สภาวะน้ำท่วมจากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ท้องฟ้าเริ่มแจ่มใส หลังจากที่ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก และต่อเนื่องใน พื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ส่งผลทำให้ปริมาณระดับน้ำท่วมขังบ้านเรือนของราษฎร และพื้นที่ทางการเกษตร ยังคงมีระดับน้ำท่วมขังที่ทรงตัว โดยมีระดับน้ำท่วมสูงโดยเฉลี่ย 60-150 ซม. พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูงอยู่บริเวณชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลกที่ล้นตลิ่ง จากการไหลทะลักของน้ำป่าบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ อ.สุคิริน ทำให้ชาวบ้านโดยภาพรวมที่ประสบอุทกภัยต้องหันมาใช้เรือเป็นพาหนะ เพื่อเดินทางไปสู่โลกภายนอก
นอกจากนี้แล้ว จากสภาวะน้ำท่วมยังส่งผลทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา จ.นราธิวาสทั้ง 3 เขต ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นการเพิ่มเติมจากวานนี้ รวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 100 โรง อันด้วยเหตุผลจาก 2 ประการ คือ 1.สถานศึกษาถูกน้ำท่วมขัง 2.บ้านเรือนของนักเรียน และถนนถูกน้ำท่วมขัง จึงไม่สามารถที่จะเดินทางมาเรียนหนังสือได้สะดวก และต้องช่วยเหลือผู้ปกครองในการขนย้ายข้าวของหนีระดับน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม สภาวะน้ำท่วมขังยังขยายผลไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เว้นแต่ละวัน อันด้วยมาจากชาวบ้านได้อพยพสัตว์เลี้ยง จำพวกวัว ควาย แพะ และแกะ ไปเลี้ยงไว้ตามไหล่ทาง จนชาวบ้านที่ใช้ยานพาหนะสัญจรไปมาบนท้องถนน โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืนที่ ทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ค่อยชัดเจนนัก จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บไปเป็นจำนวนมาก
อนึ่ง สำหรับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังขยายผลสู่สภาพคล่องด้านเศรษฐกิจ และด้านการสื่อสารในพื้นที่ จ.นราธิวาส ครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือระบบต่าง ๆ เกิดขัดข้องใช้การได้เป็นช่วง ๆ และในบางพื้นที่เท่านั้น แถมตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่าง ๆ ก็ใช้การไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานานกว่า 2 วันแล้ว
น้ำท่วมยะลาทุกพื้นที่ลดลงแล้วฝนหยุดตก
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา ว่า ล่าสุด ระดับน้ำในพื้นที่ได้ลดระดับลงแล้ว เนื่องจากฝนหยุดตกในช่วงคืนที่ผ่านมา และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ถูกน้ำท่วม มีบางส่วนที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่บ้าน สาคอ ม.3 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา มีระดับน้ำท่วมหมู่บ้านสูงเกือบ 3 เมตร มาเป็นระยะเวลากว่า 3 วันแล้ว ชาวบ้านต้องมาอาศัยหลับนอนบนขอบถนน และศาลาริมพักทางหลวง หากน้ำยังคงท่วมขังต่ออีกหลายวัน จะทำให้ชาวบ้านขาดแคลนอาหารที่กักตุนไว้
นายรอซอลี แวดือยี ราษฏรในพื้นที่ บ้านสาคอ ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา เปิดเผยว่า ปีนี้ ระดับน้ำมาเร็วมาก แต่โชคดีที่ได้รับการแจ้งเตือนจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ชาวบ้านจึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ อย่างไรก็ตาม ตลอด 3 วันที่น้ำท่วมพื้นที่ ชาวบ้านยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ๆ ซึ่งขณะนี้ ต้องการน้ำดื่ม อาหาร และเรือ เพื่อช่วยเหลือคนชรา เด็ก ๆ จำนวน 15 ครัวเรือน ที่ติดอยู่ในบ้านไม่สามารถออกมาได้
ด้าน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 แจ้งว่า ขณะนี้ ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ประกาศหยุดเรียน 10 แห่ง อ.รามัน 4 แห่ง ส่วนพื้นที่เขตการศึกษายะลาเขต 2 ยังไม่ได้รับรายงาน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วน ยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำหลังมีการแจ้งเตือนว่า จะเกิดฝนตกหนักอีกระลอก