ด้าน นายวิญญู ทองสกุล ผวจ.สงขลา ได้ประกาศให้ทั้ง 16 อำเภอ ของ จ.สงขลา
เป็นพื้นที่ภัยพิบัติและสั่งปิดทั้งหมดโดยไม่มีกำหนด โดยอนุมัติให้ทุกอำเภอใช้งบ 1 ล้านบาท และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ กองเรือที่ 2 สงขลา รับผิดชอบ อ.เมือง สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด ส่วนมณฑลทหารบกที่ 42 จะรับผิดชอบพื้นที่ อ.หาดใหญ่ และใกล้เคียง กก.ตชด.ภ.4 รับผิดชอบ อ.จะนะ เทพา นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย และกองบิน 56 รับผิดชอบ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะเดา
ส่วนพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายจากดีเปรสชั่น ที่ขึ้นฝั่ง อ.ระโนด เมื่อกลางดึกวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
พบว่าได้รับความเสียหายอย่างหนักถนนกาญจวนิช ตั้งแต่ ห้าแยกเกาะยอ ไปถึงแหลมสมิหรา ถูกลมพายุถล่มต้นไม้ริมถนนและเกาะกลาง ป้ายโฆษณา ป้ายสัญญาณไฟจราจร ล้มระเนระนาดกีดขวางทางจราจร ถนนชลาทัศน์เลียบริมหาดสนอ่อนถูกคลื่นถล่ม ต้นสนล้มทับจนต้องปิดการจราจร กระจกหน้าต่างศาลากลางจังหวัดและสถานที่ราชการ อาคารร้านค้าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์เสีย ประปาไม่ไหล ร้านค้าปิดหมด ผู้คนได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคจำหน่าย
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการด่วนให้ส่งเครื่องบินซี 130 นำเรือท้องแบน พร้อมกับถุงยังชีพ 20,000 ถุง จากกรุงเทพฯ มาลงยังสนามบิน กองบิน 56 อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา
เพื่อแจกจ่ายให้กับ หน่วยงานต่าง ๆ นำไปช่วยประชาชน ที่ติดอยู่ในน้ำ ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด พบว่านอกจากในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว ยังมีประชาชนใน อ.สะเดา เทศบาลตำบลพังลา เทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลเมืองคลองแห ประมาณ 1,000 คน ที่ติดอยู่ในบ้าน และร้องขอความช่วยเหลือ แต่ทางเทศบาลและ อบต. ไม่มีเรือเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนั้นเรือท้องแบน ที่มีอยู่พื้นที่ 2 ลำ ไม่สามารถผ่านเข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ต้องใช้เรือติดเครื่องยนต์เข้าไปช่วยเหลือเท่านั้น
ต่อมานายอภิสิทธิ์ และคณะได้ขึ้นเครื่องบินของกองทัพบก มาถึง จ.สงขลา และขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ รพ.ศูนย์หาดใหญ่ โดยพบว่าน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่หนักที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กำลังอยู่ในวิกฤติ คือ เครื่องปั่นไฟในโรงพยาบาล 3 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ใช้งานได้เพียงเครื่องเดียว นายอภิสิทธิ์ จึงสั่งการแจ้งให้วิศวกรเข้ามาซ่อมแซมให้ใช้การได้โดยเร็ว
สงขลาประกาศภัยพิบัติทั้งจังหวัด
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่หาทางเร่งอพยพผู้ป่วยออกจากพื้นที่ ก่อนที่จะมีพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวบริเวณ จ.ชุมพร ซึ่งเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อ อ.หาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักอีกครั้ง
ด้าน นายพินิจ เจริญพานิช ผวจ.ชุมพร กล่าวถึงกรณีมีพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ โดยมีแนวโน้มจะพัดเข้าภาคใต้โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร ว่า ตนสั่งการให้ทุกหน่วย เตรียมความพร้อมตามแผนการต่าง ๆ ที่ได้วางไว้ด้วยความไม่ประมาท พร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่ตนและชาวชุมพรเชื่อมั่นในพระบารมีของ กรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ที่จะคุ้มครองช่วยให้ จ.ชุมพร แคล้วคลาดจากอุทกภัยในครั้งนี้ได้
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประธาน กล่าวว่า แม้จะมีการเตือนภัยล่วงหน้าถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
แต่ด้วยระดับน้ำที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาและจากการวัดระดับน้ำในเช้าวันเดียวกัน โดยที่คลองอู่ตะเภาวัดได้ 1,623.5 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุด มากกว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2531 ที่วัดได้ 839 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนปี 2543 วัดได้ 970.8 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงถือว่ามากที่สุดในรอบ 22 ปี อย่างไรก็ตามจากการตรวจวัดสถานการณ์ล่าสุด พบแนวโน้มว่าระดับน้ำเริ่มทรงตัวมากขึ้นและถ้าน้ำในตัวเมืองหาดใหญ่ไม่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำจะง่าย ทั้งหากไม่มีฝนตกอีกก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งนี้กระแสน้ำที่ไหลในพื้นที่มาจาก 3 ทิศ คือ ตะวันตก เหนือและใต้ ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่นอกเหนือตัวเมืองแม้จะมีมาก แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะมีการพร่องน้ำออกไปล่วงหน้าแล้ว เช่นในคลองสะเดา มีระดับน้ำตอนนี้อยู่ที่ 98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบทำให้เขื่อนแตกอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปริมาณระดับน้ำเข้าท่วม จ.สงขลา ที่วัดได้ขณะนี้ แม้จะสูงกว่าปี 2531 และปี 2548 แต่คลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามพระราชดำริ ได้ช่วยแบ่งรับน้ำและระบายน้ำที่ไหลหลากและท่วมขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ