เหยื่อรถตู้ซิ่งเสียชีวิตเพิ่ม
เตือนระวังมีอีก 4 ทางแยกมรณะบนทางด่วน "กทพ." ยันเส้นทางออกแบบตามมาตรฐานสากล ปลอดภัยชัวร์ หากคนขับไม่ประมาทหรือขาดสติ ขับรถเร็ว ปิ๊งไอเดียติดตาข่ายกันรถตก เร่งเคลียร์จุดเสี่ยงภายใน 1 ปี ขณะที่นักวิจัยฯ ชี้จุดเกิดเหตุ “ก้างปลาตัววาย” อันตรายสุด ๆ ต่างประเทศสั่งเปลี่ยนแปลงยกเลิกไปหมดแล้ว จวกติดตาข่ายไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ด้านความสูญเสีย “รถตู้มรณะ” เหยื่อตายเพิ่มอีก 1 ยอดทะลุ 9 ศพ เจ็บเพียบ ญาติ ๆ ทยอยรับศพอย่างโศกเศร้า
ที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช วันที่ 1 พ.ย. พ.ท.ทวีสิน รักกตัญญู ผู้ว่า การการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวกรณีรถตู้ตกจากทางด่วนจุดที่เรียกว่า “ทางแยกมรณะ” ลงมาบนถนนพระราม 6 ว่า ภายในปีงบประมาณ 2554 นี้ กทพ.จะเร่งเคลียร์ปัญหาจุดเสี่ยงบนทางด่วนให้แล้วเสร็จ ล่าสุดของบประมาณ 25 ล้านบาท เร่งติดตั้ง “แคสคูชั่น” หรืออุปกรณ์ลดแรงปะทะของรถกันตกทางด่วนทั้ง 30 จุด ตามที่นักวิชาการแนะนำ รวมทั้งติดตั้งกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดงบนทางด่วนอีกหลายสิบจุดด้วย อยู่ระหว่างสำรวจจำนวนที่แน่นอนขอให้มั่นใจว่า ที่ผ่านมา กทพ.คำนึงถึง ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ด้านนายมณเฑียร กุลธำรง รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ กทพ. กล่าวยืนยันว่า การออกแบบก่อสร้างทางด่วนเป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมสากล ทั้งทางตรง ทางโค้ง และทางลาดชัน สาเหตุเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. ขับรถเร็วกว่าที่กำหนด 2. ไม่วางแผนการเดินทาง ไม่เคารพป้ายสัญญาณ 3. ผู้ขับขี่ขาดสมาธิ และ 4. ขับรถโดยขาดความพร้อมคือประมาท ทั้งนี้หากขับรถโดยใช้สติไม่ประมาทไม่ขับรถเร็วและวางแผนการเดินทางรับรองว่าไม่เกิดอุบัติเหตุแน่นอน
รองผู้ว่าการ กทพ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามนอกจากมาตรฐานดังกล่าวแล้ว จะมอบหมายให้สำนักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย (สวป.) ของ กทพ. ไปศึกษา เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าจะมีการออกแบบเผื่อจากมาตรฐานที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ อาทิ เรื่องการติดตั้งตาข่ายกันรถตกจากทางด่วนที่เคยมีแนวคิดมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ขณะนั้นติดขัดเรื่องงบประมาณ รวมทั้งรูปแบบว่าจะติดตั้ง และกันรถกันคนตกได้มากที่สุดอย่างไร เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว รถแต่ละคันจะเกิดแรงกระแทกในการวิ่งตรงในการตกต่างกัน จึงเกิดปัญหาในการคำนวณว่าจะรองรับที่ระยะตกเท่าใด ทั้งนี้บริเวณทางแยกทางด่วนที่เป็นหัวเกาะนอกจากจุดดังกล่าวแล้วยังมีอีก 4 จุดที่มีอุบัติเหตุบ่อยได้แก่
ขณะที่นายศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า จุดที่เกิดเหตุเรียกว่า “ทอแคเรีย” หรือจุดก้างปลาตัววาย จากการเก็บสถิติ จุดดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่ง กทพ.ออกแบบก่อสร้างให้เป็นลักษณะทางแลมป์ลาดต่ำ และเป็นเนินสูงบริเวณทางแยกด้านหน้ากำแพงทางด่วน เพื่อลดการกระแทกอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างในลักษณะนี้ที่ต่างประเทศยกเลิก หมดแล้ว เพราะหากรถมาด้วยความเร็วสูงบางจังหวะจะทำให้รถเหินตัวและตกลงด้านล่างได้แทนที่จะลดแรงปะทะ ทางศูนย์ฯเคยมีหนังสือถึง กทพ.เพื่อให้ยกเลิกรูปแบบการก่อสร้างจากแลมป์ดังกล่าวเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “แคสคูชั่น” ซึ่งเป็นการลดแรงปะทะของรถ ใช้วัสดุเป็นเหล็กที่สปริงเรียงกันเมื่อรถพุ่งเข้าชนจะทำให้ลดแรงปะทะ และหยุดอยู่กับที่ไม่ตกทางด่วน แต่มีราคาสูงจุดติดตั้งราว 300,000 บาทต่อจุด
นักวิจัยเอไอที กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการสร้างตาข่ายตนยังไม่เคยได้รับทราบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวแม้แต่ในต่างประเทศก็ตาม ดังนั้นอยากให้ กทพ.เร่งติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะทางแยกพระราม 6 เพราะเป็นรอยต่อทางด่วน 2 กับทางด่วน 1 โดยทางด่วน 1 จากดินแดง ท่าเรือ จะเลี้ยวขวาลงพระราม 6 ก็ต้องมาตัดกระแสรถอีก เป็นจุดที่อันตราย ขณะที่กรมทางหลวงก็ใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ที่ทางด่วนมอเตอร์เวย์บริเวณก่อนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางไปแล้ว ขณะที่กทพ.เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่ดำเนินการ
ส่วนความคืบหน้าอาการคนเจ็บ ที่ รพ.ราชวิถี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.อรชร บุญเจือ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ 4 ต.หนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี หนึ่งใน คนเจ็บผู้โดยสารรถตู้ ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากไม่สามารถทนพิษบาดแผลได้ ท่ามกลางความเสียใจของญาติพี่น้อง ขณะที่ รพ.พระมงกุฎ มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ทราบชื่อว่า นายศุภชัย พลช่วย อายุ 20 ปี และ น.ส.พรรณี กุนา อายุ 36 ปี เบื้องต้นทั้งคู่อาการสาหัส แต่ทีมแพทย์ช่วยเหลือไว้ได้ปลอดภัยแล้ว
ด้าน รพ.รามาฯ มีผู้บาดเจ็บนอนพัก รักษาตัว 6 คน ประกอบด้วย 1. ด.ช. พงศกร กุนา ลูก น.ส.พรรณี 2. นายวีระพงศ์ ว่องไว 3 น.ส.จันทร์จิรา ภูอุทา 4. ด.ช. ธนชิต จองคำ 5. นายสมชาย กอบความดี และ 6. นายวิโรจน์ ปานสมบัติ คนขับรถ ส่วนที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ บรรดาญาติผู้เสียชีวิตทยอยเดินทางร่ำไห้มารับศพ เบื้องต้นรับศพไปแล้ว 5 ราย ส่วนศพหญิงไม่ทราบชื่ออีก 3 ราย ยังไม่มีผู้มา ติดต่อขอรับศพแต่อย่างใด สรุปมีผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิง 4 ราย ชาย 2 ราย เด็กชาย 1 ราย เด็กหญิงอีก 1 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบทะเบียนรถเกิดเหตุคือ ออ 3153 กรุงเทพมหานคร กับกรมการขนส่งทางบก ทราบว่า ก่อนหน้าเป็นรถตู้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาได้ดัดแปลงมาใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง โดยไม่มีการแจ้งขนส่งฯตามที่กฎหมายกำหนด มีความเป็นไปได้ว่าเปลี่ยนติดตั้งแก๊สเอง โดยไม่มีวิศวกรตรวจสอบหรือควบคุมแต่อย่างใด
ด้าน น.ส.ศรีสมร ศิริปัญจนะ ผอ. โรงเรียนปัญจนะวิทย์ เปิดเผยกรณีรถตู้ที่เกิดเหตุติดสติกเกอร์ระบุเป็นรถโรงเรียนปัญจนะวิทย์ว่า รถคันดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางโรงเรียนแต่อย่างใด เป็นเพียงรถตู้ที่เคยว่าจ้างให้มารับส่งนักเรียนเมื่อช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรถรับส่งนักเรียนของทางโรงเรียนเกิดเสียต้องเข้าอู่ซ่อม หลังซ่อมเสร็จทางโรงเรียนได้เลิกจ้างรถตู้คันดังกล่าวไปตั้งนานแล้ว ไม่ทราบว่าทำไมคนขับจึงไม่แกะสติกเกอร์ชื่อโรงเรียนที่ติดอยู่หน้ารถออก อย่างไรก็ตามตนไม่อยากเอาผิดกับคนขับ เพราะเห็นสภาพแล้วไม่อยากไปซ้ำเติม แต่หากเกิดเรื่องอีกภายภาคหน้าจะดำเนินคดีแน่นอน