วันที่ 1 พ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผอ. ศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
เปิดเผยว่า จังหวัดในภาคกลางยังมีปริมาณน้ำท่วมขัง อย่างสิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อยุธยา ลพบุรี สระบุรี ไล่ลงมาถึงปทุมธานี นนทบุรี โดยบางอำเภอปริมาณน้ำเริ่มลดลง แต่อำเภอที่ยังมีน้ำทรงตัวคือน้ำท่วมหนักยังมีค่อนข้างมาก ทางกรมชลประทานจึงพยายามปรับระดับน้ำตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาลงมา โดยพยายามลดระดับน้ำให้มากที่สุด ในส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนก็เริ่มลดลง แต่น้ำทะเลจะหนุนอีกครั้งช่วงระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.โดยในวันที่ 8 พ.ย.จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด สำหรับการเร่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็เร่งดำเนินการทั้งเรือท้องแบน สุขาลอยน้ำ การหาสถานที่พักพิงชั่วคราว
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ภาคอีสาน ในวันที่ 2 พ.ย.จะมีปริมาณน้ำหนุนสูงสุดที่มาจากลุ่มแม่น้ำมูล
ซึ่งตอนนี้ไหลมาอยู่ที่ จ.สุรินทร์แล้ว ระดับน้ำสูงสุดที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ประมาณ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะทำให้ระดับน้ำสูงสุดจะขึ้นอีกประมาณ 70 ซ.ม. จากเดิมแนวที่วัดไว้ ซึ่งผลกระทบจะมี 2 อำเภอคือเทศบาลนครเมืองอุบล และเทศบาลวารินชำราบ ซึ่งจังหวัดกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เตรียมจุดอพยพผู้คนแล้ว ในส่วนของน้ำจากลุ่มแม่น้ำชีซึ่งคาดการณ์ว่าจะมาถึงในวันที่ 6-8 พ.ย.ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดูว่าปริมาณน้ำมูลลดลงมากแค่ไหน เพราะยังมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.จนถึงวันที่ 8-9 พ.ย. แต่พื้นที่บริเวณสองริมฝั่งลุ่มแม่น้ำชีและมูลต้องได้รับผลกระทบ ตั้งแต่บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ ขอนแก่น มหาสารคาม ส่วนพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้มีฝนตกมากทางศูนย์ และกรมอุตุฯได้มีการแจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่มีฝนตกหนักแล้ว รวมทั้งมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังต่างๆ ทั้งผู้ว่าฯ และ ปภ.จังหวัดต่างก็มีความพร้อม
เมื่อถามว่ามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนต้องให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้น้ำบ่าเข้ามาในเมืองเช่นที่จังหวัดอ่างทอง อย่างไรบ้าง
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดและ อปท.ได้หารือกับประชาชนในพื้นที่แล้ว และมีมาตรการการสำรวจความเสียหาย ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทแล้ว ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือความเสียหายด้านการเกษตร และยังมีมาตรการการเงินด้านอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องหนี้ มาตรการเงินกู้ หรือการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค บ้านเรือน ซึ่งจะมีการหารือในคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ซึ่งจะมีการประชุมในบ่ายวันเดียวกันนี้ ส่วนวิธีการการช่วยเหลือนั้นจะดูจากความเสียหายเป็นหลัก โดยจังหวัดจะพิจารณาเสนอรายละเอียดให้ทาง คชอ.พิจารณา ซึ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวก็สั่งการให้สำรวจพื้นที่ปัญหาทางน้ำไหล ทั้งในส่วนของทุ่งน้ำพื้นที่ต่ำ และสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำไหล โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ น้ำในเขื่อน และพื้นที่น้ำไหลต่างๆ การแก้ปัญหาผังเมือง
นายอภิรักษ์กล่าวถึงมาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นหน้าที่ของ ธกส.กับ ธอส.
ส่วนจะจ่ายให้ถึงมือประชาชนเร็วที่สุดโดยจ่ายเงินเข้าบัญชีเลยได้เมื่อไหร่จะหารือกันอีกครั้ง เบื้องต้นมีล้านกว่าครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่ทางการเกษตร และอาจมีมาตรการอื่นในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ การซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ เพราะบางครัวเรือนจะเป็นผู้เช่าก็ต้องมีรายละเอียดผู้ได้รับความเสียหาย ในส่วนของเงินบริจาค ส่วนแรกมีการอนุมัติไปแล้วเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียชีวิต สูงสุดรายละ 5 หมื่นบาทและถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวก็จะได้อีก 5 หมื่นบาท ยอดเบื้องต้นมี 87 ราย โดยเงินบริจาคทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 60 กว่าล้านบ้าน แต่ยอดเงินจริงคงยังส่งไม่ครบ
อภิรักษ์ชี้ต้องเฝ้าระวังช่วงน้ำทะเลหนุน 6-8 พ.ย.
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ อภิรักษ์ชี้ต้องเฝ้าระวังช่วงน้ำทะเลหนุน 6-8 พ.ย.