นายจักรกฤษ แจ้งกรณ์ หัวหน้าโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ว่า แม้จะย่างเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ไม่ค่อยมีฝนตกลงมาในพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำซับที่ไหลจากผืนป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง เข้ามาตัวอ่างเฉลี่ยวันละ 1.5-2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ล่าสุดช่วงสาย มีปริมาณน้ำที่กักเก็บ 349.15 ล้าน.ลบ.เมตร หรือ 110 % เกินความจุของตัวอ่าง ฯ กว่า 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีระดับน้ำสูงกว่าสันบายระบายน้ำ 0.60 เมตร ที่ไหลล้นสปริงเวย์ 3.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินความจุ 1.46 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นน้ำในส่วนเกินของความจุทั้งสองเขื่อน ฯ ที่ไหลลงสู่คลองชลประทาน จะไม่มีผลต่อน้ำท่วม
"ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เริ่มจากการเพิ่มความจุของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำเท่ากับระดับสูงสุด พร้อมกับจัดระเบียบการสร้างทำนบหรือที่กั้นน้ำ เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุที่เส้นทางการเดินทางของน้ำมีปัญหา จากการตรวจสอบพบการสร้างทำนบ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขวางเส้นทางการเดินทางของน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนจนถึงจุดสุดท้ายก่อนที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำมูล ที่บ้านกันผม ต.มะเริง อ.เฉลิมพระเกียรติ จำนวนกว่า 50 จุด จะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับท้องถิ่น ปรับปรุงตามคลองแยก ซึ่งมีตั้งแต่การขุดลอกและจัดระเบียบการสร้างทำนบ ซึ่งไม่ใช้การรื้อถอน แต่จะต้องดำเนินการสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีบานประตูเปิดปิด ซึ่งท้องถิ่นจะต้องร่วมชี้แจงให้ความรู้กับชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามวลชน และติดตั้งมาตรวัดน้ำฝน น้ำท่า ตามจุดสำคัญ ขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินงบประมาณ เบื้องต้นจะต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทท เพื่อเสนอให้รัฐบาลอนุมัติเม็ดเงินลงมาแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม" นายจักรกฤษ กล่าว