ออกแจกจ่ายถุงยังชีพให้กับชาวบ้านผู้ประ สบภัยน้ำท่วมในหลายอำเภอของ
จ.พระนคร ศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 ต.ค.
สลด-ยกของหนีน้ำ ไฟดูดดับ ลูกเข้าช่วย-โคม่า!
ศพสุมน้ำท่วมสูงถึง 94 ชีวิตแล้ว ล่าสุดชาวกรุงเก่ายกเครื่องใช้ไฟฟ้าหนีน้ำโดนไฟดูดจม ลูกรี่เข้าไปช่วยเจอชอร์ตอาการโคม่า
แถมชาวบ้านที่เข้าไปกู้ชีวิตก็โดนกระแสไฟฟ้าด้วย หวิดตายหมู่ ยังดีที่มีผู้สับสวิตช์ตัดไฟได้ทัน "อภิรักษ์ โกษะโยธิน"แถลง อ้าง 12 จังหวัดสถานการณ์คลี่คลาย "ตาล"เปิดคาราวานส่งเรือ-เครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยเหยื่ออุทกภัย โวจ่ายครอบครัวละ 5 พัน ผู้เช่าบ้านที่โดนท่วมได้ด้วย
-คลี่คลาย 12 จว.-จับตาอุบลฯ
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย แถลงว่าภาพรวม สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยรวม 27 จังหวัด 244 อำเภอ 1,847 ตำบล 15,461 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,210,968 ครัวเรือน 3,774,789 คน คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก ชลบุรี ลำพูน เชียง ใหม่ สระแก้ว นครนายก และสมุทรปราการ
นายอภิรักษ์ กล่าวว่าได้คาดการณ์พื้นที่เตือนภัยที่ต้องเฝ้าระวังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุรินทร์ มหาสารคาม ขอนแก่น โดยเฉพาะ อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 2-8 พ.ย. นี้ เนื่องจากน้ำจะท่วมมากขึ้น ส่วนภาคกลาง จะมีน้ำทะเลกลับมาหนุนสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 6-11 พ.ย. โดยจะสูงสุดวันที่ 8 พ.ย. อาจทำให้ กทม. และสมุทรปราการ เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักอีกครั้งในวันที่ 1-2 พ.ย. อาจทำให้มีน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในพื้นที่ใกล้ภูเขาด้าน จ.ยะลา และนครศรีธรรม ราช
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ทางศูนย์และคชอ.ได้เร่งรัดให้หน่วยงานเตือนภัยทุกพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดน้ำไหลหลาก หาแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้น้ำท่วมมากกว่าเดิม และเร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้หน่วยงานหามาตรการฟื้นฟูในพื้นที่น้ำลด และนำเสนอที่ประชุมคชอ.ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้กระทรวงมหาดไทยสำรวจพื้นที่น้ำขังเกิน 15 วัน ผู้เช่าบ้านพัก และผู้ไม่มีทะเบียน เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบครัวละ 5 พันบาท ซึ่งตรวจสอบขณะนี้พบว่ามี 5-6 แสนครอบครัว
-กทม.สั่งติดตามน้ำหนุน 8 พ.ย.
นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุง เทพฯ ในภาพรวมถือว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะปติมากขึ้นแล้ว เนื่องด้วยปริมาณน้ำเหนือที่เริ่มไหลลงมาน้อยลงจากเดิม ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มทรงตัวอยู่ในภาวะที่ กทม. สามารถรับมือได้ มีเพียงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้า พระยาเท่านั้น ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลงอยู่ ซึ่ง กทม.จะเข้าไปให้การดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขอให้คนกรุงเทพฯ สบาย ใจได้ว่า กทม.เตรียมพร้อมทั้งการป้องกัน การแก้ไขปัญหาไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงตั้งแต่วันที่ 5-9 พ.ย. นี้ โดยเฉพาะในวันที่ 8 พ.ย. ที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดที่ระดับ 1.32 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
นายเจริญรัตน์กล่าวว่า เบื้องต้นได้สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่กทม. แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำขึ้น-น้ำลง พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,200 ครัวเรือน ทั้งชุมชนที่อยู่ในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เช่น เขตพระนคร ดุสิต บางพลัด คลองสาน บางกอกน้อย เป็นต้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเอ่อล้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ชั้นนอกของกทม. ได้แก่ เขตลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา บางแค คันนายาว สายไหม บางเขน บางบอน หนองจอก รวมพื้นที่เสียหาย 1,766.72 ไร่ จำนวนเกษตรกร 192 ราย
ปลัดกทม.กล่าวว่า ในวันที่ 30 ต.ค. คาด จากกรมอุทกศาสตร์ น้ำจะขึ้นสูงสุดในเวลา 13.39 น. ที่ระดับ 2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
-เผยยอดตายใกล้ 100 ศพแล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณ สุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อน ที่รักษาพยาบาลผู้ประสบภัย เฉพาะในวันที่ 28 ต.ค. มีผู้ป่วยมารับบริการ 49,195 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 20-28 ต.ค. รวม 9 วัน มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน 2,278 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 229,398 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 คือน้ำกัดเท้า 110,111 ราย ที่เหลือเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยร่างกาย และพบผู้ที่มีอาการเครียด นอนไม่หลับ ใจสั่น วิตกกังวลร้อยละ 12 หรือประมาณ 25,233 คน สำหรับผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 20-28 ต.ค. มีผู้เสียชีวิตรวม 94 ราย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง 26 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็ก 6 ราย สาเหตุสำคัญ คือ การจมน้ำ พลัดตกน้ำ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ นครราชสีมา 18 ราย รองลงมาคือนครสวรรค์ 12 ราย ลพบุรี 11 ราย พระนครศรีอยุธยา 7 ราย บุรีรัมย์ 6 ราย
"การฟื้นฟูจังหวัดหลังน้ำลด เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ทั้งเรื่องโรคระบบทางเดินอาหาร โรคทางเดินหายใจ และโรคจากน้ำท่วมโดยเฉพาะฉี่หนู ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ 300 คน จากศูนย์ควบคุมโรค 7 ศูนย์ ใน 38 จังหวัด พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ในการพ่นสารเคมีต่างๆ จำนวน 350 เครื่อง สารเคมีกำจัด ยุง และแมลงวัน และยาทากันยุง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง ที่จังหวัดกาญจนบุรีและนครราชสีมาแล้ว" นาย จุรินทร์กล่าว
-ปล่อยคาราวานช่วยน้ำท่วม
เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ปล่อยคาราวานขนส่งสิ่งของสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 รายการ คือ เรือท้องแบนอเนกประสงค์ 100 ลำ เรือยนต์เครื่อง 111 เครื่อง เต็นท์สนาม 1,280 หลัง ห้องสุขาเคลื่อนที่ 300 ห้อง ให้แก่ 11 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ ปทุมธานี สุพรรณบุรี อยุธยา นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี นนทบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี
นายสาทิตย์กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการปล่อยคาราวานสิ่งของไปช่วยเหลือประชาชน ผู้เดือดร้อนตามที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่จัดซื้อไป 70 ล้านแรก ส่วนงบฯ ของคชอ. 238 ล้านบาทนั้นจะจัดให้สำนักงบฯ และ ปภ.เร่งรัดจัดซื้อของช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อส่งมอบให้ถึงมือประชาชนต่อไป
นายสาทิตย์กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรม การอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) จะเตรียมสรุปเรื่องเสนอ ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 1 พ.ย. ก่อนที่จะรายงาน ครม.วันที่ 2 พ.ย. เพื่อขอความช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัย เนื่องจากขณะนี้มี 27 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ จึงต้องประเมินพื้นที่น้ำท่วมขัง จากวันนี้ไปเกิน 15 วันขึ้นไป และดูแผนการให้ความช่วยเหลือว่าต้องช่วยอะไรบ้าง นอกจากนั้นดูว่ามีพื้นที่ใดที่น้ำจะลดลงเร็วแต่มีแนวโน้มว่าสร้างความเสียหายฉับพลันหรือไม่ต้องมีแผนแก้ปัญหา
-จ่าย 5 พันบ.ช่วยผู้เช่าบ้านด้วย
นายสาทิตย์กล่าวว่า อีกส่วนคือต้องดูว่าจังหวัดที่น้ำลดแล้วมีแผนการฟื้นฟูอย่างไร เป็นการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดเตรียมการทำข้อมูลผู้เสียหายที่ต้องได้รับเงิน 5,000 บาทด้วย แต่ละจังหวัดประ เมินตามหลักเกณฑ์แล้วมีจำนวนเท่าไร เพื่อรายงานตัวเลขต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อจ่ายให้ประชาชนทันทีในสัปดาห์หน้าโดยจ่ายผ่านธนาคาร
นายสาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนั้นจะหารือในที่ประชุม คอช.ด้วยว่าบุคคลที่เดือดร้อนแต่อยู่บ้านเช่าในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้วว่ามีหลักการคือต้องช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนคือผู้ที่เช่าบ้าน ตนจึงจะได้กำชับที่ประชุมว่าให้สำรวจเรื่องบ้านเช่าให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเฉพาะคนที่เช่าซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายก็ต้องได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาทเช่นกัน อีกส่วนหนึ่งคือกรณีที่มีบ้านแต่ไม่มีบ้านเลขที่ ก็คงต้องใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย โดยใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการยืนยันยึดหลักการช่วยเหลือ
นำทีมศิลปินอาร์เอสฯ ร่วมทำความสะอาดบ้านและมอบสิ่งของช่วยเหลือ
ผู้ประสบภัยน้ำท่วมชุมชนบ้านบุมะค่า ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อ 29 ต.ค.
นายสาทิตย์กล่าวว่า นายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้โทรศัพท์หาตนและนายอภิรักษ์เพื่อติดตามสอบถาม เรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยความเป็นห่วง ซึ่งตนได้รายงานนายกรัฐมนตรี ไปทุกๆ ชั่วโมง
-'มท.3' ตีปี๊บรับมือน้ำท่วมใต้
เมื่อเวลา 10.30 น. นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย แถลงข่าวว่า ในช่วงวันที่ 27-30 ต.ค. มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น อาจเกิดน้ำท่วมภาคใต้ได้ จึงได้สั่งการผู้ว่าฯ ทั้ง 14 จังหวัดเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. อาทิ ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจป้องกันอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มระดับจังหวัด ถึงระดับตำบล แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำตลอด 24 ช.ม.ซึ่งเงินทดรองจังหวัดละ 50 ล้านบาท ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนกรมบัญชีกลางสามารถอนุมัติได้เพิ่มอีก 200 ล้านบาท และถ้าไม่พออีกปลัดกระทรวงการคลังสามารถอนุมัติเพิ่มได้เป็น 500 ล้านบาท ทั้งนี้ จังหวัดชายฝั่งทะเล จะต้องแจ้งเตือนประชาชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำให้ระวังเป็นพิเศษ ตรวจทั้งชูชีพ ทั้งสัญ ญาณเตือนภัยสึนามิให้ใช้การได้ อุปกรณ์กู้ภัยต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต ต้องเตรียมความพร้อมให้การสนับสนุนได้ทุกพื้นที่
-ห่วงเหมือนน้ำท่วมใหญ่สงขลา
นายถาวรกล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือแผนอพยพ เมื่อปี 2543 เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และน้ำท่วมขังครึ่งเดือน จึงต้องมีการเตรียมพื้นที่อพยพประชาชนจากที่ลุ่มมาที่ดอน ขณะนี้มีน้ำท่วมภาคใต้แล้ว 2 จุด คือ ที่ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี และอ.ทับปุด อ.ตะกั่ว ทุ่ง จ.พังงา
นายถาวรยังกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มีความกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่สงขลา ชุมพร เนื่องจากครบรอบ 10 ปีจะมีน้ำท่วมใหญ่ 1 ครั้ง และได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2543 จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกด้าน อย่างที่ อ.หาดใหญ่ ได้เตรียมความพร้อมตามโครงการตามแนวพระราชดำริ คือ ขุดคลองระบายน้ำ 9 สาย ซึ่งในปี 2552 มีระดับน้ำใกล้เคียงปี 2543 คือไหลแรง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่คลองระบายน้ำทำให้หาดใหญ่ปลอดภัย
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้นในพื้นที่ 27 จังหวัด 244 อำเภอ 1,847 ตำบล 15,461 หมู่บ้าน 1,210,968 ครัวเรือน 3,774,789 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 4,001,701 ไร่ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสาร คาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ปราจีนบุรี ฉะเชิง เทรา สมุทรปราการ พิษณุโลก และจังหวัดหนองบัวลำภู
-'พระองค์ติ๊ด'ซับน้ำตาชาวท่าเรือ
เมื่อเวลา 10.30 น.วันเดียวกัน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณโปรดเกล้าฯให้นายบุญเชิด กันภัย ผู้ดูแลพระตำหนักจักรีบงกช เป็นผู้แทนพระองค์ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประ สบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพพระราชทาน จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากา ชาดไทย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรี อยุธยา จำนวน 500 ชุด ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลประชานุกูล มีนายณรงค์ อ่อนสะอาด รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ ให้การต้อนรับ
จากนั้นนายบุญเชิดพร้อมคณะได้ลงเรือท้องแบนออกแจกถุงยังชีพพระราชทาน ภายใน ชุมชนซอยแสนสุข ชุมชนตลาดวัดหนองแห้ว ชุมชนโคกมะนาว ตลาดหม่องเจ้า ก่อนจะเดินทางไปยัง อ.มหาราช อ.บางปะหัน อ.บางบาล ซึ่งรวมถุงยังชีพพระราชทานทั้งหมดจำนวน 2,500 ถุง ทั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงเป็นห่วงความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสูง
-สลดไฟชอร์ตฝรั่งตายอนาถ
เวลา 13.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก และเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนที่ปลูกริมแม่น้ำฝั่งเกาะเมือง ซึ่งอยู่นอกเขตถนนอู่ทองที่เป็นแนวกั้นน้ำ ที่บ้านเลขที่ 20/1 ม.5 ต.ประตูชัย อ.พระนครศรี อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้ปากคลองท่อ ซึ่งเป็นบ้านปลูกติดริมน้ำไล่ระดับพื้นบ้าน
ปรากฏว่าตรงพื้นที่ครัวติดริมแม่น้ำนั้น มีน้ำท่วมสูงเข้ามาในพื้นครัวประมาณ 60 ซ.ม. นายฮารอส บูสโซะ อายุ 39 ปี อาชีพนักเดินเรือ ชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน และได้มาจดทะเบียนอยู่กินกับภรรยาชาวไทย ได้มาเยี่ยมบ้าน เพราะถูกน้ำท่วม จึงลงไปเก็บของในครัวของบ้านที่มีน้ำท่วมอยู่ ขณะกำลังยกเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องครัวไฟฟ้าชอร์ตร่างของนายฮารอสจนร่างจมลงในน้ำ ทำให้นายศิริวิทย์ ทองสาริ อายุ 15 ปี ลูกบุญธรรม วิ่งเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำร่างของพ่อบุญธรรมขึ้นมา แต่ถูกกระแสไฟฟ้าชอร์ตร่างจมลงในน้ำไปอีกราย อาการสาหัส
ระหว่างนั้นภรรยาชาวไทยตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน นายวิสิทธิ์ มีแสงนิล อายุ 30 ปี เพื่อบ้าน พร้อมเพื่อนรวม 4 คน เข้าให้การช่วยเหลือ และก็ถูกกระแสไฟฟ้าดูด ทำให้พลเมืองที่ให้เข้าช่วยเหลือไปสับคัตเอาต์ และเร่งนำร่างของนายฮาราด และนายศิริวิทย์ ขึ้นจากน้ำและรีบนำส่งร.พ.พระนครศรีอยุธยา
หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.พิชา รุจินาม รอง ผกก. สส. และร.ต.อ.สัมฤทธิ์ แสงอรุณ พนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุและสภาพศพ ซึ่งพบการเสียชีวิตมาจากกระไฟไฟฟ้าชอร์ตขณะขนย้ายสิ่งของในพื้นที่น้ำท่วม
-พระสงฆ์อ่างทองสะอื้น-วัดจมน้ำ
ที่ จ.อ่างทอง พระอธิการพรหม กิจจกาโร เจ้าอาวาสวัดจำปาหล่อ ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไหลท่วมเสนาสนะภายในวัดระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร โบราณสถานโบราณวัตถุได้รับความเสียหายทั้งหมด และเพิ่มระดับสูงขึ้นทุกวัน บนศาลาน้ำท่วมสูง 30 ซ.ม. ต้องเดินลุยน้ำ สุขาใช้การไม่ได้ พระไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ เพราะไม่มีเรือในขณะที่ชาวบ้านในชุมชนก็ถูกน้ำท่วมสูงได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ต้องลงมือปรุงอาหารฉันเองในแต่ละมื้อ
พระอธิการพรหมกล่าวว่า เป็นห่วงโบราณ สถาน โบราณวัตถุ ที่ได้รับความเสียหาย ที่กังวลคือการบูรณะซ่อมแซมหลังน้ำลดต้องใช้เวลาหลายปี การซ่อมแซมเป็นไปด้วยความ ยากลำบากเพราะอิฐ ปูน ที่มีอายุ 100-200 ปีอาจแตกร้าวพังทลายได้
พระอธิการวรพจน์ สุวโจ เจ้าอาวาสวัดไพรวัลย์ ต.บ้านอิฐ อ.เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า วัดได้รับความเสียหายหนัก พระเณรได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับชาวบ้าน ในวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งกำหนดจัดงานทอดกฐินสามัคคีก็คงต้องทำต่อไป เพราะล้มเลิกไม่ทันแล้ว คงเป็นกฐินกลางน้ำที่ทุลักทุเล เพราะศาลาถูกน้ำท่วมหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระวัดไพรวัลย์นั่งดูสภาพความเสียหายของวัดที่น้ำท่วมสูงเสียหายหนัก ท่ามกลางความสลดใจของชาวบ้านที่ผ่านไปมา
-พิษไม่ไปรับคณะมท.2-เด้งนอภ.
ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน อ.จักราช จ.นครราชสีมา ที่ต่างพากันสงสัยกรณีนายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครราชสีมา ลงนามคำสั่งด่วน เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ให้สับเปลี่ยนตำแหน่งระหว่างนายบัญญัติ พงษ์ศรีกูล นายอำเภอจักราช ไปปฏิบัติหน้าที่นายอำเภอโนนแดง และให้นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ นายอำเภอโนนแดงมาปฏิบัติหน้าที่แทน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวจึงโทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริง นายบัญญัติเปิดเผยว่า คำสั่งที่เกิดขึ้นน่าจะมีเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล อ.จักราช เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย น้ำได้ไหลจากลำจักราช ซึ่งเป็นสาขาของลุ่มน้ำมูล เข้าท่วมพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ของ ต.หนองพลวง และ ต.ทองหลาง เมื่อช่วงเวลาประมาณ 02.00 น.วันที่ 17 ต.ค. ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านจำนวนหลายพันคน ร้องขอความช่วยเหลือ ตนพร้อม จนท.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ระดมสรรพกำลังให้การช่วยเหลือ ลำเลียงนำชาวบ้านที่ติดอยู่ในหมู่บ้านออกมาในที่พักชั่วคราว พร้อมแจกอาหาร-น้ำดื่ม และถุงยังชีพ ซึ่งน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์ ให้ไปสอบถามพี่น้อง ประชาชน อ.จักราช เขาทราบดีว่าน้ำท่วม ตน และทีมงาน ช่วยเหลือ ชาวบ้าน โดยอยู่ในพื้นที่ตลอด จนสถานการณ์คลี่คลาย จนกระทั่งวันที่ 26 ต.ค. คณะของนายบุญจง วงษ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ได้เดินทางมาเยี่ยมชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.จักราช ตนติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ปลัดอาวุโส และแจ้งประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปต้อนรับ นำตรวจเยี่ยมชาวบ้านแทน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่มีคำสั่งฟ้าผ่า ย้ายจากอำเภอชั้น 2 ไปอำเภอชั้น 5 ซึ่งตนไม่ได้รับความเป็นธรรมกับคำสั่งนี้ กำลังหารือเพื่อจะอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบต่อไป
ออกตระเวนรับซื้อเรือเก่า นำมาซ่อมแซมส่งไปขายให้กับ
ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ราคาลำละ 5-8 พันบาท
ไม่ถึงเดือนขายไปแล้วกว่า 60 ลำ
(2)ลอยคอ - น้ำจากแม่น้ำมูล-ชี ไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าวและบ้านเรือน
ในเขต ต.ยางบ่อภิรมย์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เกษตรกรต้องลอยคอเกี่ยวข้าว
และต้องสัญจรด้วยเรือท้องแบน
-ผู้ว่าฯโคราชแอ่นรับ-อ้างไม่เกี่ยว
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯ สุรินทร์ รักษา ราชการแทนผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวถึงการย้าย นอภ.จักราช สลับกับ นอภ.โนนแดง เพราะไม่ต้อนรับคณะของนายบุญจงที่ไปตรวจน้ำท่วมในพื้นที่ว่า การย้ายข้าราช การระดับ 8 ในจังหวัดถือเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ โดยตรง สามารถย้ายได้เลย ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปที่กรมการปกครองอีก ถือว่ากรมการปกครองมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ แล้ว สาเหตุการย้ายครั้งนี้เป็นเหตุผลในการบริหาร เพื่อวางตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปดูแลประชาชน ไม่ใช่เรื่องของการกระทำผิดใดๆ และการย้ายก็ไม่ใช่การย้ายด่วน มีเวลาให้เคลียร์งาน เก็บของ ร่ำลาผู้คน ถือเป็นเรื่องปกติของข้าราชการที่จะต้องมีการโยกย้ายตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
เมื่อถามถึงกระแสข่าวย้าย นอภ.จักราช เพราะไม่ไปร่วมต้อนรับคณะของนายบุญจงที่ไปราชการน้ำท่วม นายระพีกล่าวว่า ไม่ใช่ ตนยังไม่เคยไปรับนายบุญจงเลย ก็ไม่เห็นโดนย้ายไปไหน ถ้ามีงานก็ต้องทำงาน เรื่องนี้จึงไม่ใช่สาเหตุ
-'ฟิล์ม'ออกงาน-แจกของน้ำท่วม
เมื่อเวลา 14.35 น.ที่ชุมชนบ้านบุมะค่า ด้านหลังห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายประหยัด เจริญศรี รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายทนงศักดิ์ ป้อมแสนพล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิที่อยู่อาศัย เพื่อมนุษยชาติประเทศไทย สาขานคร ราชสีมา ได้นำนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม นักร้อง นักแสดงชื่อดัง ในฐานะทูตมูลนิธิ และบรรดาเพื่อนศิลปินสังกัดอาร์เอส โปรโมชั่น ร่วมกันจัดกิจกรรมช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกิจกรรมมีการแจกจ่ายถุงยังชีพ ยารักษาโรค ข้าวสารอาหารแห้ง จำนวนกว่า 500 ชุด มีการทำความสะอาดที่พักอาศัยของผู้ประสบภัย และร่วมกันทำอาหารเมนูผัดหมี่โคราช โดยฝีมือของฟิล์ม รัฐภูมิ แจกจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ท่ามกลางความสนใจ ของพี่น้องประชาชนในชุมชน และบรรดาแฟนคลับให้ การต้อนรับกว่า 500 คน
ฟิล์ม รัฐภูมิ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมต่อไปเป็นงานที่พวกเราถนัด คือ งานคอนเสิร์ต จะจัดที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเพื่อช่วยเหลือ และคาดหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยให้ดีขึ้น อยากขอฝากกำลังใจให้ทุกๆ ท่านไม่ต้องตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องที่ร้ายกำลังผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อน้ำลดเราก็เริ่มต้นกันใหม่ อย่าท้อแท้
-อุตุฯเตือนฝนถล่มใต้-หนาวเหนือ
เมื่อเวลา 14.30 น.วันเดียวกัน ที่กรมอุตุ นิยมวิทยา นายต่อศักดิ์ วานิชขจร รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าวว่า จะมีฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย ประกาศเตือนภาคใต้ระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในอ่าวไทย เนื่อง จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
นายต่อศักดิ์กล่าวว่า ช่วงวันที่ 29-31 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประ เทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น กับฝนตกหนักหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตก หนัก ที่อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในระยะนี้จะมีอากาศเย็นลงโดยทั่วไป โดยอุณหภูมิลดลงได้ 2-3 องศา ในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย.จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง
-พระเทพฯทรงช่วยชาวเสาไห้
เมื่อเวลา 14.00 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสำเริง เอี่ยมสะอาด รองราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 1,000 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรในพื้นที่ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยพิบัติ ยังความปลาบปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น มีนายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ให้การต้อนรับ และกล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมว่า อ.เสาไห้ ประสบอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักในวันที่ 13 ต.ค.2553 ที่ผ่านมามีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 12 ตำบล 78 หมู่ บ้าน มีจำนวนผู้ประสบภัยทั้งสิ้น 4,569 ครัวเรือน 13,144 คน เป็นพื้นนา 9,321 ไร่ บ่อปลา 116 บ่อ ถนน 10 สาย สะพาน 1 แห่ง วัด 20 แห่ง
-ซึ้งน้ำพระทัย'องค์โสม-องค์ภา'
วันเดียวกัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.สราลี กิติยากร ผู้แทนพระองค์ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 700 ถุง มอบให้ผู้ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งระดับน้ำยังคง ท่วมสูงกว่า 2 เมตร และน้ำเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว
ม.ล.สราลียังได้นำกระแสรับสั่งจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ถึงผู้ประสบอุทกภัย ว่า ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีความห่วยใยต่อพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบทุกคน โดยรับสั่งว่าหลังน้ำลดจะนำมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก มาฟื้นฟูอาชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่เป็นการด่วน พร้อมนั่งเรือท้องแบนนำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง ถนนถูกตัดขาด ซึ่งไม่สามารถเดินทางออกมารับสิ่งของพระราช ทานได้อีกกว่า 10 ครัวเรือนด้วย
-สมชาย-ส.ส.นนท์ลุยน้ำท่วม
จังหวัดนนทบุรี สถานการณ์น้ำท่วมยังอยู่ในขั้นวิกฤต แม้วันเดียวกันนี้ระดับน้ำทะเลจะไม่หนุนขึ้นสูงเหมือนเช่นทุกวัน เมื่อเวลา 08.30 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่บริเวณริมเขื่อนท่าน้ำนนท์ มีนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี นายอุดมเดช รัตนเสถียร และนายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย รายงานสถานการณ์และความต้องการของชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย
ต่อมานายสมชายได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนพร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 300 ถุงที่ชุมชนศาลเจ้าตลาดขวัญ ถนนนนทบุรี 1 อ.เมือง ขณะที่นายวรวุฒิ ศรีนนท์ ประธาน ชุมชนเป็นตัวแทนชาวบ้านกล่าวขอบคุณ ที่อดีตนายกรัฐมนตรียังไม่ทอดทิ้งประชาชน
ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ข้างวัดใหญ่สว่างอารมณ์ ม.2 ต.อ้อมเกร็ด อ.ปาก เกร็ด ร้องเรียนว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกแนวเขตป้องกัน ประมาณ 50 ครัวเรือนว่าได้รับความเดือดร้อนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานแล้ว โดยไม่มีผู้ใหญ่หรือหน่วยงานราชการไปดูแลแต่อย่างใด
-'สุดารัตน์'ตรวจที่ปากเกร็ด
ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามบิน น้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี นางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ เป็นประธานในการปล่อยขบวนรถบรรทุกข้างสารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจำนวน 25 คันรถ ซึ่งเป็นข้าวสารที่ทางกระทรวงพาณิชย์จัดทำขึ้นเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนคร ราชสีมาจำนวน 8 แสนถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม
ที่เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข นายอุดมเดช นายนิทัศน์ และนายการุณ โห สกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะได้เอาสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ข้าว สาร อาหารแห้ง มาม่า เป็นต้น ไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่บนเกาะเกร็ดจำนวน 1,500 หลังคาเรือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ได้พูดทักทายกับประชาชนที่มาคอยรับสิ่งของเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยพบว่าบ้านบางหลังถูกน้ำท่วมจนเกือบถึงหลังคา บางรายต้องปิดบ้านย้ายไปอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราว
-เกษตรฯมั่นใจน้ำไม่ท่วมอุบลฯ
วันเดียวกัน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว. เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์มาก อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำเหนือที่ยังไหลหลากจากตอนบน
ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูล คาดว่าในวันที่ 2 พ.ย.ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลซึ่งไหลมาจากจ.นครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์ จะไหลมายังจ.อุบลราชธานี ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำก้อนใหญ่อีกก้อนที่ไหลจากแม่น้ำชีซึ่งจะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อ.วารินชำราบ ได้ไหลผ่านจ.ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และยโสธร คาดว่าจะเดินทางมาถึงอุบลราชธานีในวันที่ 7 พ.ย. โดยแม่น้ำทั้ง 2 สายจะไหลมาบรรจบกันโดยจะมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 5 วัน จากการคาดการณ์ของกรมชลประทานส่งผลให้แม่น้ำมูลมีอัตราการไหลประมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะสามารถวัดระดับความสูงจากระดับตลิ่งได้ประมาณ 60-70 เซนติ เมตร ซึ่งปริมาณน้ำมูลดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่จ.อุบลราชธานีมากนัก เนื่อง จากน้ำได้มีการระบายอย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลาที่จะไหลมาบรรจบห่างกัน
-เตรียมมาตรการช่วยเกษตรกร
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 1 พ.ย.เพื่อพิจารณา "มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 กรณีพิเศษ" จากเดิมตามหลักเกณฑ์วิธีปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2552 จะนำเอาเฉพาะค่าปัจจัยการผลิต คือ ค่าพันธุ์และค่าปุ๋ยมาคำนวณ และกำหนดเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือนาข้าวอัตรา 606 บาทต่อไร่ พืชไร่ อัตรา 837 บาทต่อไร่ และพืชสวน 912 บาทต่อไร่นั้น จะเสนอปรับเปลี่ยนให้นำเอาต้นทุนการผลิตมาคิดเป็นฐานเพื่อให้การชดเชยสูงขึ้นจากเดิมด้วย รวมถึงยังจะเสนอขยายเกณฑ์การช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของประมงและปศุสัตว์ อาทิ จากเดิมตามหลักเกณฑ์วิธีปลีกย่อยฯ พ.ศ. 2552 ที่การชดเชยกรณีโค กระบือ ตายหรือสูญหาย จะให้ความช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหาย แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว หรือ ไก่ไข่ ไก่พันธุ์ ตายหรือสูญหาย จะให้ความช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหาย แต่ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว แต่ในกรณีพิเศษนี้วางแนวทางไว้ว่าจะช่วยเหลือร้อยละ 50 ของจำนวนที่เสียหายเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
-อุ้มสมาชิกสหกรณ์-กลุ่มเกษตร
สำหรับแนวทางความช่วยเหลือแก่เกษตร กรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ได้แก่ กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ กรณีเกษตรกรลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย ให้ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553-2555 งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553-2555 ส่วนการให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนา คุณภาพชีวิตด้วยการให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท รวมถึงลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่เรียกเก็บจากเกษตรกร ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยจะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
ส่วนความโปร่งใสในการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศกว่า 6 ล้านไร่ จะมีการทำประชาคมแต่ละหมู่บ้าน หลังจากนั้นนำรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับการชดเชยไปติดไว้ให้ประชาชนแต่ละแห่งทราบ ส่วนการจ่ายเงินชดเชยจะนำเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรแต่ละราย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเข้าสำรวจความเสียหายทันทีภายหลังน้ำลด
-มาร์คตรวจน้ำท่วมผ่านทีวี
เมื่อเวลา 19.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมและสอบถามถึงความคืบหน้าในสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากประเทศเวียดนาม มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(คชอ.) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เป็นผู้ให้ข้อมูลความคืบหน้า รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายอภิสิทธิ์ได้ย้ำกับคณะกรรมการคชอ. ว่าขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อสถานการณ์น้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร หากน้ำทะเลไม่หนุนแล้ว แต่ยังมีน้ำในทุ่งที่จะไหลลงสู่แม่น้ำอีก จึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งนี้ ตนขอให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงอาสาสมัครที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง และอาจต้องทำต่อเนื่องไปอีก และหลังจากกลับถึงประเทศไทยจะลงพื้นที่พบและให้กำลังใจประชาชน และมาร่วมประชุมถึงสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่ออนุมัติมาตรการต่างๆ ในการประ ชุม ครม. เศรษฐกิจในวันที่ 1 พ.ย.นี้
-ป.รุดเยี่ยมชุมชนน้ำท่วม
เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน พ.ต.อ. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย ได้เดินทางเข้ารับฟังปัญหาคดีอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงน้ำท่วมจากกลุ่มชาวบ้านภายในชุมชนสันติชนสง เคราะห์ ซ.อรุณอมรินทร์ 35 เขตบางกอกน้อย กทม. พร้อมนำข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ น้ำดื่ม และไม้กระดาน เข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วมด้วย
จากการรับฟังชาวบ้านในพื้นที่พบว่าหลังจากมีน้ำท่วมขังในชุมชุม ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย จนถึงลักรถจักรยานยนต์ก็ตามมา เนื่องจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมทำให้ชาวบ้านบางคนไม่สามารถที่จะพัก หรือคอยเฝ้าทรัพย์สินได้ตลอดเวลา รถจักรยานยนต์ก็ไม่สามารถนำมาจอดได้ ต้องนำไปจอดนอกพื้นที่ เสี่ยงต่อการถูกขโมย ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันผลัดเวรสอดส่องดูแลกันเอง เบื้องต้นพ.ต.อ.สุพิศาลได้รับเรื่องไว้ หลังจากนี้ก็จะส่งตำรวจกองปราบฯ เข้ามาประสานข้อมูลและรับแจ้งเบาะแส และคอยให้ความรู้สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยในชุมชน