กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสเตียรอยด์ในยาสมุนไพร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
วันนี้ 29 ต.ค. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการบริโภคยาจากสมุนไพรของผู้บริโภค ที่หลงเชื่อสรรพคุณที่มีการโฆษณาเกินจริง ทำให้มีโอกาสได้รับการปลอมปนด้วยยาแผนปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการกำกับ และควบคุมการผลิต แต่ผู้ผลิตบางรายได้มีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสมในยาแผนโบราณ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะยาลูกกลอน ที่มีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเท่าเมล็ดพุทราไทย มีสีดำ หรือสีอื่น ๆ กินแล้วจะเกิดอาการตัวบวม และค่อย ๆ อ้วนขึ้น
แม้จะหยุดกินยาแล้วก็ตาม ส่วนมากยาเหล่านี้ ซื้อมาจากผู้ขายประเภทขายตรง ยาทำบุญพระแจก หรือยาผีบอก และยาที่ลักลอบเข้ามาจำหน่าย โดยทำเป็นเม็ด หรือลูกกลอน หากกินแล้วก็รู้สึกว่าเหมือนจะรักษาได้ทุกโรคจริง ๆ เห็นผลเฉียบพลัน มีตั้งแต่แก้ปวดเมื่อยไปจนถึงรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ไต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่ง ได้ร่วมกับ สำนักยาและวัตถุเสพติด ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน (Com Med Sci) ได้มีการรวบรวมข้อมูลผลการทดสอบตัวอย่างยาจากสมุนไพร ซึ่งนำส่งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และภาคเอกชนทั่วประเทศ ส่งตรวจระหว่างปี 2551-2552 จำนวนทั้งสิ้น 1,584 ตัวอย่าง พบว่า มีการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน จำนวน 283 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.87 โดยพบการปลอมปนสูงในยาจากสมุนไพรที่เป็นเม็ดลูกกลอน และยังพบว่า มียาแผนปัจจุบันปลอมปนมากกว่า 1 ชนิด สูงถึงร้อยละ 47.00 ของตัวอย่างที่ตรวจพบ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า ยาแผนปัจจุบันที่ตรวจพบ
ได้แก่ เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เพรดนิโซโลน (Prednisolone) แอนติฮีสตามีน (Antihistamine) ยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้น การนำยาแผนปัจจุบันผสมลงในยาจากสมุนไพรอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เพื่อดำเนินตามกฎหมายกับผู้ผลิตยาสมุนไพรดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์ ที่ได้พัฒนาขึ้นให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ สามารถนำไปตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และเฝ้าระวังความปลอดภัยในเบื้องต้น
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยาเดกซาเมทาโซน และเพรดนิโซโลน จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือเรียกสั้นๆ ว่า สเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น หากรับประทานยาชนิดดังกล่าว เป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ถึงขั้นกระเพาะทะลุได้ ทำให้ตัวบวม หน้าบวม กระดูกผุกร่อน เปราะแตกง่าย ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง ซึ่งทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีอาการเพิ่มขึ้น หรือต้องใช้อินซูลินมากขึ้น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
และเมื่อใช้ยาเป็นเวลานานแล้วหยุดรับประทานกะทันหัน ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ สำหรับชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อตรวจหารสารสเตียรอยด์ที่ปลอมปนในยาสมุนไพรนั้น ผู้ที่สนใจสามารถซื้อชุดทดสอบได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง14 แห่งทั่วประเทศ หรือที่ร้านค้าสวัสดิการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ 02965 9745.