ไม่ผ่อนผัน โฆษณา´เหล้า´ สธ.เอาจริง

"ใกล้ได้เวลาบังคับใช้แล้ว"


ความคืบหน้าเรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ ที่ยังมีข้อถกเถียงกันมากมายและใกล้ถึงเวลากำหนดบังคับใช้แล้วนั้น

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขเปิดเผยถึงคำสั่งห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ว่าในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงรายละเอียดในการนำแนวทางไปปฏิบัติ หลังจากนั้นจะเดินสายทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 4 ภูมิภาค โดยจะดำเนินการอย่างเข้มงวด ส่วนที่มีโพลแสดงความเป็นห่วงการดำเนินการของสาธารณสุขนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะ สธ.เอาจริงอย่างแน่นอน แม้ว่าในช่วงแรกของการปฏิบัติตามกฎหมายอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง เหมือนเป็นมือใหม่หัดขับ แต่คงต้องให้เวลาสักระยะหนึ่ง ขอบคุณประชาชนทุกคนที่แสดงความเป็นห่วงในแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่ 100% แต่ต่อไปน่าจะทำได้ดีขึ้น สามารถดูแลประชาชนได้ใกล้เคียงกับบุหรี่ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกไปเป็นวันที่ 15 ม.ค. 2550 นพ.มงคลกล่าวว่า แนวทางปฏิบัติมีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยในส่วนของรายละเอียดมอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ

"ออกเดินสายชี้แจงเรื่องมาตรการห้ามโฆษณา"


ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้ จะออกเดินสายชี้แจงมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้ง 4 ภาค เพื่อให้แนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันหลังจากมีการบังคับใช้ จึงจะแบ่งทีมออกตรวจในทุกพื้นที่ ซึ่ง รมว.สาธารณสุขได้มอบนโยบายให้ยึดแนวทางสมาน ฉันท์ โดยเริ่มแรกจะเป็นการตักเตือนและชี้แจงต่อร้านค้าผู้ประกอบการให้มีการปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ไม่จับกุมในทันที ถือเป็นการประชาสัมพันธ์สักระยะ จากนั้นจึงเริ่มคุมเข้ม หากฝ่าฝืนต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้เชี่ยวชาญจะสรุปการพิจารณาในประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจน และเกิดการสับสนในทางปฏิบัติ รวมทั้งกรณีที่บริษัทเหล้ามีการฟ้องร้อง เช่น โลโก้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นจานรองแก้ว ร่ม เก้าอี้ ฯลฯ ซึ่งทำให้สถานทูตฝรั่งเศสและบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 3-4 แห่งทำหนังสือร้องขอมาให้พิจารณาผ่อนผันการบังคับใช้ ประกาศ อย.ในการห้ามการโฆษณาจากกำหนดไว้ในวันที่ 3 ธ.ค. 2549 เป็นวันที่ 15 ม.ค. 2550 ในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่า สธ.คงจะไม่ยอมผ่อนผัน เลื่อนกำหนดเวลาตามที่มีการร้องขอ ระหว่างนี้ต้องรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องของการบังคับใช้ของประกาศดังกล่าว ทั้งประเด็นการใช้สัญลักษณ์โลโก้ บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปฏิบัติสองมาตรฐาน หากตีความเสร็จสิ้น สธ.ก็สามารถเดินหน้าชี้แจงได้อย่างเต็มตัว ทั้งนี้ หากตีความตามเจตนารมณ์ สธ.ชนะแน่ เพราะต้องการให้คุ้มครองสุขภาพประชาชนเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่เกรงว่าจะมีการตีความตามตัวอักษร เล่นคำ ถ้าเป็นเช่นนั้น สธ.ยังถือว่า 50-50

"แจกของแถมได้แต่ห้ามติดแบรนด์"


นพ.สมานยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะแจกปฏิทินในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น ต้องยอมรับว่า ประกาศของ อย.ไม่สามารถครอบคลุมการแจกแถมจากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่หากเป็น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะควบคุมถึง อย่างไร ก็ตาม หากปฏิทินหรือของแจกแถมต่างๆ มีการระบุถึงชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่มีการบ่งชี้ว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่แปลว่าโรงกลั่นเบียร์ ก็ไม่สามารถใช้แจกแถมได้ โดยประกาศของ อย. ได้ห้ามไว้

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจของเอแบคโพลยืนยันชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบในทุกสื่อ ตลอด 24 ชม. ซึ่งโพลคือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จึงเหมือนการทำประชามติแบบหนึ่งที่รัฐบาลควรต้องรับฟัง การที่ ประชาชนเริ่มหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ และกลัวจะไปฮั้วกับบริษัทเหล้าข้ามชาติ คือสัญญาณอันตรายที่ต้องตระหนักให้มากว่าจะเลือกยืนอยู่ข้างประชาชน หรือผลประโยชน์

"เป็นสินค้าควบคุมฉลากโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว"


นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวยืนยันว่า ข้ออ้างของบริษัทเหล้าข้ามชาติที่ระบุว่าการมีคำสั่งห้ามโฆษณาในมาตรา 24 ของ พ.ร.บ. ต้องมีองค์ประกอบว่าต้องให้คณะกรรมการควบคุมฉลากประกาศสุราให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากก่อนไม่อาจทำได้ เพราะสุราเป็นสินค้าจากโรงงานที่คณะกรรมการฉลากไม่ต้องประกาศควบคุมนั้น จนต้องมีการนำเข้าไปตีความในคณะกรรมการกฤษฎีกา ความจริงแล้วมาตรา 30 ใน พ.ร.บ.ที่แก้ไข ในปี 2541 ได้ให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานเป็นสินค้าควบคุมฉลากโดยอัตโนมัติแล้ว เพื่อรองรับสินค้าจากโรงงานมากมายมหาศาลที่ให้เป็น สินค้าที่ต้องควบคุมฉลากโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องให้คณะ กรรมการควบคุมฉลากต้องประกาศเป็นรายๆ เท่านั้น และว่าข้อร้องเรียนของบริษัทเหล้า เป็นการตีความแบบศรีธนญชัย โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่สำคัญก่อนจะออกเป็นคำสั่งห้ามโฆษณาออกมา มีนักกฎหมายหลายคนช่วยกันดูอย่างดีแล้ว มีหลักฐานยืนยันการใช้กฎหมายนี้ที่ผ่านมามีมากมาย อย่างเช่น ใน พ.ศ.2549 นี่เอง ที่คณะกรรมการฉลากได้ประกาศให้รถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าควบคุมฉลากเพื่อใช้มาตรการจำกัดการโฆษณาได้ ข้ออ้างโดยดูแต่เพียงตัวหนังสือของมาตรา 30 ของบริษัทเหล้าจึงฟังไม่ขึ้น

นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ช่วยเหลือภาครัฐ ลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ หรือ สชอ. กล่าวว่า สมาพันธ์ฯเน้นความร่วมมือโดยสมัครใจ ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมการบริโภคสุราเป็นนโยบายสาธารณะ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งหมดต้องร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ จะได้ประโยชน์ ร่วมกันทุกฝ่าย ความเห็นที่แตกต่างควรพัฒนาไปในทาง สร้างสรรค์ ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หรือดูแลนักดื่มหน้าเก่าก็เป็นเรื่องง่าย ดีกว่ากฎหมายที่ไม่ชัดเจน ขาดมิติของการบังคับใช้ จึงอยาก จะชี้ให้เห็นว่าหลักเมืองมีหลักเดียว คือหลักของความ เที่ยงธรรม เช่น ประมวลกฎหมายต่างๆ หลักการค้ามีหลักเดียวเช่นเดียวกัน คือหลักจริยธรรม ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องมีประมวลจริยธรรมสำหรับสังคมธุรกิจ ยกระดับมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ

"นำเสนอประมวลจริยธรรมทั่วไปเพิ่มมาตรการเข้มข้น"


นอกจากนี้ สชอ.ได้นำเสนอประมวลจริยธรรมทั่วไปจำนวน 11 ข้อ และผู้ประกอบการสถานบันเทิง จะมี มาตรการที่เข้มข้นกว่า เพิ่มเข้ามาอีก 6 ข้อ สาระสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ไม่จำหน่ายสุรากับนักศึกษา ไม่ทำการตลาดในกลุ่มเด็ก ไม่ใช้เรื่องเพศเป็นเหตุจูงใจ เป็นต้น ส่วนเรื่องป้ายโฆษณาสุรา จะเห็นได้ว่า ย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มีวิสกี้นำเข้าเพียง 2 ราย คือบริษัทริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด และบริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด ประเทศไทย อยู่ในย่านนี้ ในเรื่องนี้ ได้หารือกับผู้บริหารทั้ง 2 รายแล้ว มีความเห็นตรงกันว่าจะถอนป้าย โดยเริ่มต้นนับหนึ่งนำร่องที่มหาวิทยาลัย หอการค้าไทยก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน โดย เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.เป็นต้นไป โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมกันนี้มีร้านค้าและสถานบันเทิงใกล้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมลงนามข้อตกลงจริยธรรม 8 ร้าน

ทางด้าน นายจีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความร่วมมือโดยสมัครใจแก้ปัญหาที่ต้นทาง ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง กลไกสำคัญคือการควบคุมและตรวจสอบกันเอง เห็นว่าควบคุมดีกว่าห้าม เพราะมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในพื้นที่บริเวณโดยรอบมหา-วิทยาลัย ควรเป็นเขตควบคุมที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันกำหนดนโยบายสาธารณะ ที่เหมาะสมกับชุมชนของเราจริงๆ และทำงานได้จริง

นายสมศักดิ์ แดงบุญเรือง เลขานุการชมรมผู้ประกอบการฯ กล่าวว่า ที่น่ากลัวไม่ใช่คนที่เปิด หน้าค้าขายอยู่หน้ามหาวิทยาลัย ที่น่ากลัวจริงและเป็นปัญหา คือผับบาร์ที่ไม่มีใบอนุญาต และเปิดเกินเวลา ซึ่งไม่มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ขอบคุณเครือข่ายนักศึกษาที่ช่วยชี้เป้าให้ตำรวจตรวจจับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย หากการแข่งขันเป็นธรรม จะเกิดผู้ประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากมาย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์