ที่รัฐสภา นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการเฝ้าระวังระดับน้ำสูงที่เกรงว่าจะท่วมกทม.
สั่งการอธิบดีกรมชลประทานให้รายงานตลอดเวลา เพราะทุกคนต่างมีความเป็นห่วงกรณีน้ำทะเลหนุน แต่อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจก่อนว่าน้ำทะเลนั้นขึ้นๆลงๆ ไม่ได้สูงตลอดเวลา ช่วงที่ลดลงนั้นสามารถระบายออกได้ทันที กรมชลประทานได้ประสานงานกับทางกทม.อยู่อย่างใกล้ชิด
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ทางกรมชลประทานใช้มาตรการเบรกน้ำที่จะลงมากทม.ไว้ให้ได้มากที่สุด
เนื่องจากน้ำที่มาจากจ.นครสวรรค์ สมทบกับน้ำที่แม่น้ำสะแกกรังนั้นมีเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลา 06.00 น.นั้นน้ำที่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามีประมาณ 3,350 ลบ.เมตร ต่อวินาที การเบรกน้ำไว้โดยเขื่อนเจ้าพระยาแต่การชะลออย่างนี้คงทำไว้ไม่ได้นาน แล้วคงต้องปล่อยลงมาอีก ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นทุกวันนี้เก็บน้ำอยู่ 1,060 ล้านลบ.เมตร ทั้งที่ปกติเก็บเพียง 960 ล้านลบ.เมตร เท่านั้น ขณะนี้เก็บเกินความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตามได้ทำการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อทำการเบรกน้ำเอาไว้ระยะหนึ่ง
เมื่อถามว่าขณะนี้พื้นที่ใดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด นายธีระ กล่าวว่า ลุ่มเจ้าพระยานั้นน่าห่วงที่สุด ส่วนภาคอีสานก็ทั้งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล โดยเฉพาะน้ำก้อนใหญ่ที่ยังอยู่แถวอ.พิมาย แต่ยังโชคดีที่แม่น้ำมูลจะผ่านไปที่จ.อุบลก่อน ส่วนแม่น้ำชีจะตามมาทีหลังเนื่องจากเดินทางช้ากว่า แต่ถ้าทั้งชีและมูลมาเจอกันที่จ.อุบลก็คงน่าเป็นห่วงเช่นกัน
รมว.เกษตร กล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านพืชไร่ที่ได้รับความเสียหาย นั้นต้องหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อน
เนื่องจากจะขอไม่ใช้ตามระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งให้ชดเชยอยู่ 606 บาท ต่อ ไร่ แต่กำลังคิดว่าน่าจะเพิ่มเป็นพัน เนื่องจากการเยียวยานั้นจำเป็นต้องพิจารณาจากแนวทางข้อเท็จจริง เช่น ต้นทุนการผลิตข้าว ความเสียหายของข้าว ผลผลิตที่เกิดขึ้นจะสามารถให้ราคาประกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ควรจะเป็นมอบให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯไปพิจารณาอยู่ คงไม่เสนอในการประชุมครม.วันนี้
“ยอมรับว่ากระทรวงเกษตรฯนั้นปลายน้ำ จะรู้พื้นที่ความเสียหายชัดเจนก็เมื่อน้ำลดลงแล้ว จึงจะเข้าไปกำหนดชัดเจนได้ ขณะนี้พื้นที่ที่รายงานของกระทรวงนั้นเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะเสียหาย ซึ่งตัวเลขตั้งแต่เดือนส.ค.ที่เริ่มน้ำท่วมมานั้นตัวเลขความเสียหายข้าวนั้นสูงถึง 5 ล้านไร่เศษๆ”