คมชัดลึก :หลังเกิดวิกฤติปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาปริมาณน้ำท่วมขังยังสูง เนื่องจากอยู่ติดริมน้ำและใต้เขื่อน ทำให้การสัญจรที่เคยใช้รถใช้ถนน ต้องปรับเปลี่ยนมาสัญจรทางน้ำด้วยการใช้เรือแทน และหลายครอบครัวต้องการกระสอบทรายเพื่อทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม กลับมาพบกับปัญหาซ้ำเติม เมื่อราคาของ เรือ" และ "ทราย" ถีบตัวขึ้นสูงมาก "ตอนนี้เรือไฟเบอร์ในจังหวัดนครราชสีมานั้นไม่มีเหลือขายให้แก่ใครแล้วแม้สักลำเดียว ใครจะซื้อก็ต้องสั่งและต้องรอนานเกือบ 2 สัปดาห์ กว่าของจากโรงงานจะนำมาส่ง ส่วนราคาที่ต้องปรับขึ้นเนื่องจากโรงงานมีการปรับราคา จึงทำให้เราต้องขายในราคาที่สูงขึ้น" ผู้ประกอบการรายหนึ่งให้เหตุผล ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายนี้ขายเรือได้วันละ 30 ลำ ยังไม่รวมยอดสั่งจอง
เมื่อสุ่มสำรวจตรวจสอบร้านขายเรือไฟเบอร์แห่งหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับห้างสรรพสินค้าใหญ่ พบว่า ร้านแห่งนี้จำหน่ายเรือไฟเบอร์อยู่ 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ มีราคาสูงขึ้น อย่างเรือขนาดเล็กนั่งได้ 2 คน เป็นที่นิยมมากที่สุด ปกติราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000-2,500 บาท ขยับขึ้นมาตามกระแสน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,000-3,500 บาท, เรือขนาดกลางจาก 4,000 บาท เป็น 5,500 บาท ขณะที่เรือลำขนาดใหญ่ราคาพุ่งพรวดจาก 5,000 บาท ปรับราคาใหม่ 7,000 บาท
โดยยอมรับว่า ยามปกติที่ยังไม่เกิดน้ำท่วมเรือพวกนี้จะขายได้ 3-4 เดือนต่อลำเท่านั้น แต่ตอนนี้สั่งเรือไฟเบอร์เข้ามาเท่าไหร่ก็ขายหมดเกลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพ่อค้าจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.สระบุรี จ.พิจิตร นำเรือไฟเบอร์ขนาดเล็กเข้ามาขายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ไม่นิยมมาขายให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง แต่จะเลือกขายส่งให้แก่ร้านขายพลาสติกหรือเรือไฟเบอร์ในจังหวัด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 กว่าร้านแทน
เรือ-ถุงทรายรีดเลือดคนน้ำท่วม
ขณะเดียวกัน "คม ชัด ลึก" สำรวจพื้นที่ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม หลังจากมีข่าวว่าน้ำจะไหลเอ่อล้นมาท่วมพื้นที่นั้น
ชาวบ้านเริ่มซื้อเรือไฟเบอร์และทรายบรรจุกระสอบ เพื่อมาทำแนวกั้นน้ำที่จะเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ก็กำลังประสบปัญหาถูกพ่อค้าฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาเรือไฟเบอร์และทรายบรรจุกระสอบด้วย ซึ่งกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จะนำทรายมากรอกใส่กระสอบนำขึ้นรถกระบะหรือรถบรรทุกเข้าไปขายตามชุมชนต่างๆ ในราคาที่แพงมาก กระสอบละ 60 บาท ทั้งที่ทราย 1 คิว จะซื้อขายอยู่ที่ราคา 200-300 บาท ซึ่งหากนำมาบรรจุใส่กระสอบจะได้ประมาณ 30 กระสอบเลยทีเดียว
ด้านนางสุบงกช วงค์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ใน จ.นครราชสีมา
ผู้ประกอบการหลายรายได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และกลุ่มผู้ประกอบการยังปรึกษาหารือกันว่า จะมีมาตรการที่จะควบคุมผู้ประกอบการด้วยกันเอง ขอความร่วมมือไม่ให้ผู้ประกอบการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ในภาวะวิกฤติแบบนี้ แต่ก็อาจมีผู้ประกอบการบางกลุ่มฉกฉวยโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้
"เชื่อว่าคงเป็นคนกลุ่มเล็กๆ หรือไม่ก็เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง เพราะปกติทรายนั้นเราก็ช่วยกันขนไปบริจาคให้เป็นคันรถอยู่แล้ว แต่เราจะเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่ามีกลุ่มไหนเข้ามาหาผลประโยชน์ตอนนี้ หรือหากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขอให้แจ้งเข้ามาที่หอการค้าจังหวัด จะไปดำเนินการหรือเข้าไปจัดการให้" นางสุบงกชกล่าว