คมชัดลึก :กว่า 1 สัปดาห์แล้วที่น้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่จะคลี่คลายบ้างแล้ว แต่สถานการณ์ความเครียดเริ่มมารุมเร้าซ้ำเติมผู้ประสบภัย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเห็นภาพชาวบ้านเก็บกวาดคราบสกปรกจากโคลนดินที่เข้ามาพร้อมกับน้ำ ด้วยอากัปกิริยาที่ดูเหม่อลอย อาการซังกะตาย และหมดความหวัง ปรากฏอยู่ทุกซอกมุมในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ “อรรถพล ไชยฤกษ์” หรือ “เอก” ชาวบ้าน ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา “วันนี้น้ำลดลงแล้ว แต่สุขภาพจิตผมตอนนี้ไม่ดีเท่าไหร่ เป็นห่วงแม่ที่อายุมากแล้ว กังวลทั้งเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ บ้านที่ได้รับความเสียหาย และกลัวว่าน้ำป่าระลอก 2 จะเข้ามาอีก" อรรถพลระบายความทุกข์ใจ ไม่ต่างจาก “ดวงใจ ภูวนาถ” ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจาก อ.ปักธงชัย ยอมรับว่า ตั้งแต่วันที่น้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมบ้าน ทำให้เธอและสามีมีอาการเครียด นอนไม่หลับ จนน้ำหนักลดไป 7 กิโลกรัมแล้ว
หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ตลอดหนึ่งสัปดาห์ครอบครัวของเขาทั้ง 4 ชีวิต ต้องใช้ชีวิตอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน เพื่อรอคอยข้าวสารอาหารแห้งที่เจ้าหน้าที่ทำมาแจก และตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่แต่บนชั้น 2 ของบ้าน เวลากลางคืนที่สมาชิกในครอบครัวนอนหลับพักผ่อน แต่ตัวเขาต้องตั้งนาฬิกาปลุกไว้ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อตื่นมาคอยดูระดับน้ำว่าจะท่วมสูงมาถึงชั้น 2 หรือไม่ ขณะที่ทุกๆ วันก็ยังรู้สึกหวาดกลัวแม้กระทั่งเสียงน้ำไหล เพราะกลัวน้ำจะไหลเข้ามาท่วมถึงชั้น 2 อีก
“กลัวคนจะมาขโมยของที่บ้าน เพราะบ้านฉันเป็นอู่ซ่อมรถและขายอะไหล่ยนต์ พอน้ำท่วมสูงก็ต้องส่งลูกหลานไปอยู่ที่อื่น ส่วนฉันจะอาศัยนอนบนเก้าอี้ ที่ต้องหนีน้ำท่วมมาอยู่บนเกาะกลางถนน แล้วคอยเฝ้าบ้านที่ถูกน้ำท่วมมาหลายคืนแล้ว" ดวงใจเล่าด้วยสีหน้ากลัดกลุ้ม
เครียดโรคที่มากับน้ำท่วม
ด้านกระทรวงสาธารณสุขที่ส่งทีมแพทย์และสาธารณสุขมา คอยตั้งเต็นท์ดูแลเยียวยาชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่
พบว่ามีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ 1,415 ราย ในจำนวนนี้ต้องดูแลต่อเนื่องเป็นพิเศษ 45 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 42 ราย อีก 3 รายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเก่า มีอาการเครียดรุนแรง อาจพัฒนาไปสู่อาการซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายได้
สำหรับบรรยากาศในเต็นท์พยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดมาเพื่อเยียวยาประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีผู้ประสบภัยน้ำท่วม
โดยเฉพาะคนชราเข้ามาต่อแถวรับบริการตลอดทั้งวัน โดยเจ้าหน้าที่จะประเมินอาการทางจิตว่ามีความเครียดอยู่ในระดับใด ก่อนที่จะให้คำปรึกษา ยาคลายเครียด ยาต้านเศร้า หรือส่งไปบำบัดสำหรับคนไข้ที่มีอาการอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง
"ผู้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาจากคณะแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ช่วง 3 วันแรกมักจะเครียด เพราะเกรงว่าน้ำป่าจะไหลเข้ามาอีกเ ป็นการห่วงกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองหรือคนในครอบครัว แต่หลังจากนี้ พวกเขาก็จะมีความกังวลอีกครั้ง ในเรื่องความเสียหายของทรัพย์สิน ไร่นา ตลอดจนเป็นห่วงเรื่องหนี้สินที่จะติดตามมาหลังจากนี้" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุ
"ทวี ตั้งเสรี" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า อย่าพยายามอยู่คนเดียว
อยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างคนในครอบครัว หรือเพื่อนที่ประสบภัยเหมือนกัน เพื่อช่วยดูแลซึ่งกันและกัน และควรฝึกมองโลกในแง่บวก เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ส่วนผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ ควรทำใจให้สบาย พยายามติดตามข่าวสารและอย่าตกใจมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เข้าสู่ภาวะโรคเครียดได้ง่าย ทั้งนี้ หากผู้ประสบภัยมีปัญหาเครียด หรือซึมเศร้า สามารถโทรไปปรึกษาได้ที่ 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
"ตอนนี้เราส่งหน่วยปฏิบัติงานลงพื้นที่แล้ว เพื่อตรวจคัดกรองผู้ประสบภัยน้ำท่วมเบื้องต้น ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต มีภาวะเครียด เพราะเมื่อมีความเครียดจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย และพอหลังน้ำลดก็จะมีการเยียวยากันอีกที " รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุ