นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าขณะนี้ได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
เพื่อวางมาตรการชะลอความแรงของกระแสน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดยกรมชลประทานเตรียมไว้ 3 มาตรการ เพื่อลดความแรงของน้ำจาก 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ให้เหลือ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีในช่วงไหลผ่านกรุงเทพฯ ประกอบด้วย
1.การหน่วงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยกดประตูน้ำลงเพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ช้าลง ต้องประเมินว่าจะลดบานประตูลงเท่าไหร่เพราะต้องคำนึงพื้นที่รอบเขื่อนที่จะได้รับผลกระทบด้วย
2.ลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลง จากปัจจุบันระบายน้ำออกมาที่ปริมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะต้องประชุมอีกครั้งว่าต้องระบายออกระดับใดจึงจะเหมาะสม และแต่ละช่วงในการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจะใช้ระยะเวลาเท่าใด เพราะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของตัวเขื่อนด้วย เพราะสถานการณ์น้ำเปลี่ยนแปลงทุกวัน
และ 3.แบ่งน้ำผลักดันออกไปตามคลองต่างๆของระบบชลประทานในฝั่งเจ้าพระยาตะวันตกและตะวันออก ซึ่งจะสามารถตัดยอดน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะสามารถดึงเวลาให้ช้าลงประมาณ 2 วัน ทำให้ผ่านช่วงวิกฤติน้ำทะเลหนุนสูงไปได้โดยไม่เกิดอุทกภัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่าระดับน้ำที่ลพบุรีและอยุธยาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเร่งระบายน้ำออกมีข้อจำกัดจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง
และน้ำทะเลยังจะหนุนขึ้นมาระลอกสอง ในช่วงวันที่ 8 พ.ย.นี้ แต่จะไม่หนักเท่าช่วงวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ คาดว่าต้องใช้เวลาเดือนกว่าระดับน้ำที่ลพบุรีและอยุธยาจะลดลง ส่วนที่ชัยภูมิและนครราชสีมา ยังคงมีฝนตกอยู่ทุกวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ระดับน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทักภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข
กล่าวว่าขณะนี้มีพื้นที่ยังคงประสบอุทกภัย 27 จังหวัด 213 อำเภอ 1,659 ตำบาล 11,146 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 38 ราย ทั้งนี้โรคที่พบมากที่สุดได้แก้น้ำกัดเท้า นอกจากสุขภาพกายแล้วทางกระทรวงได้ส่งทีมสุขภาพจิตลงไปในพื้นที่เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้บริการตรวจรักษาไปแล้ว 4,888 คน ตรวจพบปัญหาสุขภาพจิต 706 คน ส่งต่อเพื่อรักษาต่อหรือติดตามอาการต่อเนื่อง 78 คน
ขณะที่นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าได้รับการติดต่อจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ถามมาว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะองค์การอนามัยโลกมีหน่วยที่พร้อมจะดูแลช่วยเหลือประมาณ 10 หน่วย แต่ละหน่วยสามารถดูแลได้ 1,000 คน ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลจะรับความช่วยเหลือหรือไม่