น้ำเจ้าพระยาเอ่อท่วม3อำเภอจ.สิงห์บุรี

คมชัดลึก :น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วม 3 อำเภอ จ.สิงห์บุรี ประชาชนเร่งขนสิ่งของขึ้นที่สูง อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี มทภ.1 ลงตรวจพื้น ลพบุรี-อยุธยา ย้ำทหารพร้อมช่วยทุกรูปแบบ ระบุ “กำลังพล-ยุทโธปกรณ์” มีขีดความสามรถในการช่วยเหลือ ชี้เตรียม จนท.จิตวิทยาพูดคุย ปชช. ช่วยฟื้นฟูจิตใจหลังน้ำลด


(21ต.ค.) เวลา 10.00 น. นายพิเชษฐ  ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าฯสิงห์บุรีรุดตรวสอบพื้นอำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี

บ้านเรือนประชาชนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 2 เทศบาล 5 ตำบล 41 หมู่บ้าน และบ้านเรือนประชาชน 2,300 ครัวเรือน ประชาชนต้องเร่งขนย้ายสิ่งของ เครื่องมือการเกษตร รถยนต์กระบะ สัตว์เลี้ยงไว้บนไหล่ถนนที่สูงจากระดับน้ำ โดยมีหน่วยราชการกางเต้นเป็นที่พักชั่วคราวไว้ให้ประชาชน ปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทในวันนี้ 2.800 ลบ.ม./วินาที  (เวลา 06.00 น.)

 อย่างไรก็ตามทางจังหวัดสิงห์บุรี ได้ออกประกาศเตือนภัยให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามข่าวสารเป็นระยะ และเฝ้าระวังตรวจระดับน้ำ สิ่งของต่างๆ ให้อยู่ในที่ปลอดภัย

 นายชัย สุวพันธุ์ นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า

เทศบาลเมืองอ่างทองได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองปากช่องจังหวัดนครราชสีมา และเทศบาลตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการนำสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งยารักษาโรครวมทั้งเงินที่ตั้งโต๊ะบริจาคเงินและสิ่งของพร้อมส่งรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย อย่างเร่งด่วน


นายเอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เดินทางตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทุกวัน

และบอกว่าว่ารู้สึกเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ได้สั่งการให้ตน และผู้เกี่ยวข้องให้จัดการบริหารน้ำให้ดี โดยเฉพาะตรงไหนที่เป็นเขตเศรษฐกิจต้องดูแลให้ดีอย่าให้น้ำเข้าไปโดยเด็ดขาด อย่าให้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังให้ผู้นำท้องถิ่นแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะปีนี้น้ำมากมากเหลือเกิน


ในส่วนของเขตเทศบาลขณะนี้น้ำในระดับแม่น้ำท่าจีนสูงกว่าระดับถนนประมาณ 30 ซ.ม.

แต่ยังมีน้ำซึมจากเขื่อนที่กำลังก่อสร้างไม่เสร็จด้านทิศตะวันออก จึงได้สั่งการให้โยธาธิการจังหวัดเร่งแก้ไขแล้ว เพื่อๆไม่ให้น้ำทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจในตัวเมืองสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีประชาชน ร้านค้าในเขตเทศบาลโทรมาถามเรื่องน้ำว่าจะท่วมเทศบาลหรือไม่แต่ตนยังไม้คำตอบไม่ได้เพราะปีนี้น้ำมาก จึงได้เตือนไปว่าถ้ากลัวก็ให้ก่ออิฐหรือทำผนังป้องกันหน้าบ้านไว้ก่อน ซึ่งขณะนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ก่อผนังและวางแนวกระสอบทรายป้องกันหน้าบ้านไว้แล้ว

 พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ก่อนตรวจดูสภาพน้ำท่วมพื้นที่ จ.ลพบุรี ถึงปัญหาอุทกภัยในพลายพื้นที่ว่า

กองทัพภาคที่ 1 มีความห่วงใยประชาชนตามแนวทางของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้เน้นย้ำมาว่าให้หน่วยทหารทุกหน่วยต้องไปดูแลช่วยเหลือประชาชน เพราะถือว่าทุกข์ประชาชนคือทุกข์ข้าราชการเดียวกัน และวันนี้ (21 ต.ค.) จะไปตรวจการปฏิบัติงานของกำลังในส่วนของกองทัพภาค 1 ซึ่งพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหนัก คือ จ.ลพบุรี ซึ่งคงไป อ.บ้านหมี่ เพื่อตรวจดูพื้นที่โดยทั่วไป ซึ่งจะได้วางแผนช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากนั้นจะไปที่อ.ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งหลักๆ ก็จะดูใน 2 จุดนี้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาหนัก

 พล.ต.อุดมเดช กล่าวว่า กองทัพภาค 1 ได้จัดประชุมทางไกลกับระดับกองพล กองบัญชาการช่วยรบ กองพลพัฒนา มณฑลทหารบก และ จังหวัดทหารบกทุกแห่ง

เพื่อหารือและสั่งการเพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมย้ำให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามแนวทาง 3 ขั้นตอน คือ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่เกิดไปแล้ว ดังนั้นพื้นที่ที่เหลือต้องเตรียมการเพื่อรับมือ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ หากพบว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ และหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการฟื้นฟู ว่าพื้นที่ใดมีผลกระทบมากเราต้องเตรียมการและวางแผนช่วยเหลือให้ครบถ้วน นอกจากนี้ยังกำชับให้ทุกหน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มความสามารถที่สุด

 เมื่อถามว่าพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้นเกิดอุทกภัยกี่จังหวัด พล.ท.อุดมเดช กล่าวว่า ขณะนี้ประสบภัยแล้วกว่า 10 จังหวัด

จากพื้นทีที่รับผิดชอบทั้งหมด 26 จังหวัด ซึ่งมีความเสียหายลดหั่นกันไปแต่ที่ประสบปัญหาหนักที่สุด คือจ.ลพบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกก็มี จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งกองทัพจะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ส่วนอุปสรรคปัญหาในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องของการเดินทางเข้าช่วยเหลือบางพื้นที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ในขีดความสามารถของอุปกรณ์ช่วยเหลือที่กองทัพมีอยู่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่

 “การช่วยเหลือขณะนี้ก็ทำในหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของกำลังพลที่ลงไปช่วยในการขนย้ายสิ่งของ ขนย้ายประชาชน และคนเจ็บไปยังโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการจัดลำดับความสำคัญไว้อยู่แล้ว เช่น วัด สถานพยาบาล แหล่งชุมชน สถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญ ขณะที่การช่วยเหลือทางเรือ หรือ เรือท้องแบนนั้นก็ได้นำไปช่วยเหลือด้วย แต่ส่วนของทหารจะยังคงมีไม่มาก แต่จะพยามระดมเท่าที่มีอยู่มาช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ขณะที่การฟื้นฟูด้านสุขภาพกับประชาชนหลังน้ำลดนั้น ก็ได้มีการเตรียมไว้เช่นกัน เช่นในส่วนของการรักษาพยาบาล เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่ได้วางไว้ คือ ทุกทุกจังหวัด ทุกมณฑล จะต้องมีศูนย์รักษาพยาบาล เพื่อดูความเจ็บป่วย โดยมีนายแพทย์ทหารที่ไปดูแล และด้านจิตใจหากมีผลกระทบก็จะพยายามให้ความอบอุ่น และมีเจ้าหน้าที่ที่คอยพูดคุย ” พล.ท.อุดมเดช กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์