เผย 5 ยุทธศาสตร์สกัดปัญหา ปลัดพม.อึ้งเด็กต่ำกว่า 15 ปีท้องเพิ่ม แค่ 9 ขวบก็อุ้มท้องแล้ว
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในพิธีเปิด “โครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่างยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม” ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงและต้องเร่งแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยมีแม่วัยเยาว์อายุระหว่าง 15-19 ปีมากเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นอันดับแรกในเอเชีย และเป็นอันดับสองของโลก ที่น่าตกใจยังพบแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวนมากขึ้นจากปีที่แล้ว 2,000 คนเป็นกว่า 3,000 ในปี 2553 นี้ โดยอายุต่ำสุดที่พบปี 2552 และได้เข้ารับมาดูแลในบ้านพักเด็กพม.อายุเพียง 9 ขวบ โดยสาเหตุปัญหาแม่วัยเยาว์ส่วนใหญ่มาจากการถูกกระทำ นอกจากนี้ยังมาจากปัญหาครอบครัวแตกแยก เข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง สื่อที่ยั่วยุโดยที่เด็กไม่มีความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือเซฟเซ็กส์
นางพนิตากล่าวด้วยว่า ขณะนี้พม.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา การช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟู และสร้างระบบงาน เพื่อให้มีการช่วยเหลือแม่วัยเยาว์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเป็นกลไกในภูมิภาค ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาตาม ยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะช่วยให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นและชุมชนอย่างทั่ว ถึง ร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับแก้เพื่อเสนอคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ จากนั้นจะนำเสนอครม.ภายในเดือนพ.ย.และประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีในวันที่ 25 พ.ย. รวมทั้งมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ และจะมีการติดตามประเมินผลจำนวนแม่วัยเยาว์ในปีต่อไปจะลดลงหรือไม่
ด้านนางขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมว่า ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน โดยให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ให้ความรู้ผ่านอินเทอร์เนตและเฟสบุค เฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยง ยุทธศาสตร์ด้านการช่วยเหลือและบำบัดฟื้นฟู โดยสนับสนุนที่พักพิงและบริการให้คำปรึกษา ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจและสังคม จัดฝึกอาชีพ แม่วัยเยาว์ที่ต้องการกลับไปเรียนต่อต้องได้รับโอกาสการเข้าเรียน ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทและองค์ความรู้แก่ผู้นำทางความคิดของเด็กและ เยาวชน โดยปรับทัศคติพ่อแม่ให้ยอมรับความผิดพลาดของลูกและร่วมหาทางออก ยุทธศาสตร์ด้านการผลักดันนโยบาย โดยมีกลไกขับเคลื่อนระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น ประสาทความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยุทธศาสตร์การสำรวจข้อมูล การพัฒนา ระบบงาน และการติดตามผล โดยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลทุกปีงบประมาณ สรุปประมวลผลสถานการณ์ปัญหาและหาทางแก้ไขในคณะกรรมการระดับชาติและจังหวัด ในการช่วยเหลือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเด็กและเยาวชน.