ที่หอประชุม ที่ว่าการอำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบถุงยังชีพจำนวน 1,000 ถุง ซึ่งภายในได้บรรจุ อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง และชุดยาเวชภัณฑ์ ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
หลังจากที่น้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงอ.ปักธงชัย ไหลบ่าเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของอ.โชคชัย ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 10 ตำบล 87 หมู่บ้าน 5,600 ครัวเรือน และกระแสน้ำยังได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของอำเภอโชคชัยเสียหายกว่า 5 หมื่น 6 พันไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 180 ล้านบาท
นายบุญจง กล่าวถึงการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา มี 32 อำเภอ แต่ได้ถูกกระแสน้ำไหลเข้าท่วมแล้ว 24 อำเภอ แนวทางการเข้าช่วยเหลือนั้นคือ จะต้องมีการเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่แล้ว และได้มีการปฏิบัติหน้าที่แบบบูรณาการ โดยการสำรวจถึงผู้ที่เดือดร้อนและเร่งจัดหา อาหาร ข้าวสารอาหารแห้งเข้าไปให้กับผู้ที่ประสบภัย ส่วนด้านสาธารณสุขก็ได้มีการส่งแพทย์เข้าไปในแต่ละพื้นที่เพื่อตรวจเช็คร่างกายของผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่
แต่หากในพื้นที่ใดยังคงมีประชาชนที่ติดค้างอยู่ในบ้าน ตนก็ได้มอบหมายให้ทางนายอำเภอสั่งการกำนันผู้ให้บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าในแต่ละพื้นที่ยังคงมีประชาชนตกหล่นหรือติดค้างอยู่หรือไม่ ดังนั้นตนจึงต้องการให้ผู้ที่ตกหล่นได้แจ้งเข้าไปที่อำเภอหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยเร่งด่วนเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือต่อไป
สำหรับจำนวนงบประมาณที่นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ขอเพิ่มงบประมาณทดลองราชการกับนายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.53 ที่ผ่านมา นายบุญจง กล่าวว่า
คิดว่างบประมาณทดลองราชการที่รัฐบาลจัดให้ 100 ล้านบาท ก็เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ประสบภัยเป็นไปอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนของประชาชนก็แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเครื่องอุปโภคบริโภคของประชาชน และสิ่งต่อมาคือความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากภายใน 3-4 วัน ไม่มีฝนตกลงสภาวะต่างๆก็น่าจะดีขึ้น และหลังสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็จะมีการตั้งศูนย์ตรวจสอบความเสียให้ของประชาชนโดยนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งตนเองได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วหลายอำเภอปรากฏว่า พื้นที่ที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่น้ำท่วมขัง จึงสั่งการให้นายอำเภอมีการตรวจเช็คถึงจำนวนนาข้าวที่เสียหายเท่าไร และจะมีการจ่ายเงินชดเชยของบประมาณจากรัฐบาลมาดูแลช่วยเหลือเกษตรกร
ดังนั้นหากงบจำนวน 100 ล้าน ไม่เพียงพอก็สามารถขอไปได้ที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบกลางที่มีอยู่ให้การช่วยเหลือประชาชนเพิ่มอีกได้ ซึ่งตนสามารถยืนยันได้ว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วงรัฐบาลมีเพียงพอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือประชาชนจะต้องช่วยให้ตรงจุดและจะต้องให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง