เอแบคโพลล์ เผยปชช.ส่วนใหญ่ 41.5 % รู้สึก “ยอดแย่” เมื่อพบเห็นตำรวจ เลือกปฏิบัติ 68.4%

เอแบคโพลล์ เผยปชช.ส่วนใหญ่ 41.5 %  รู้สึก “ยอดแย่” เมื่อพบเห็นตำรวจ เลือกปฏิบัติ 68.4% อยากให้แก้ปัญหาความไม่สงบ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research,  ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ( Cornell University)  เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “วันตำรวจ” : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี  จำนวนทั้งสิ้น  1,174 ครัวเรือน ดำเนินโครงการในระหว่างวันที่ 1 – 12 ตุลาคม  2553 ผลการสำรวจพบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 เห็นความสำคัญของ “ตำรวจ” ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

และผลสำรวจยังพบความรู้สึก “ยอดเยี่ยม” ใน 5 อันดับแรก ที่เกิดขึ้นในใจของประชาชนเมื่อพบเห็นตำรวจ โดยอันดับแรก หรือร้อยละ 73.0 รู้สึก    “อุ่นใจ” เมื่อพบเห็น “ตำรวจ” รองลงมาคือ ร้อยละ 71.2 รู้สึกปลอดภัย ร้อยละ 69.2 รู้สึกว่า ตำรวจยินดีต้อนรับ ร้อยละ 61.4 รู้สึกว่า ตำรวจเสียสละ แต่มีอยู่ร้อยละ 49.3 ที่รู้สึกอยากเข้าใกล้เมื่อพบเห็นตำรวจ

เมื่อพิจารณาความรู้สึก “ยอดแย่” ที่เกิดขึ้นในใจของประชาชนเมื่อพบเห็นตำรวจ ใน 5 อันดับแรก พบว่า อันดับแรก หรือ ร้อยละ 41.5 รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ รองลงมาคือ ร้อยละ 35.5 รู้สึกถึงผลประโยชน์เมื่อพบเห็นตำรวจ ร้อยละ 18.7 รู้สึกว่าจะถูกรีดไถ ร้อยละ 17.2 รู้สึกลัว และร้อยละ 14.8 รู้สึกถูกข่มขู่ คุกคาม และเมื่อจำแนกประเด็นของการถูกเลือกปฏิบัติ เกรงจะถูกรีดไถ และถูกพูดจาข่มขู่คุกคาม จำแนกตามพื้นที่ที่ประชาชนพักอาศัย พบว่า คนในเมืองจะรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติจากตำรวจมากกว่าคนนอกเมือง คือร้อยละ 42.1 ต่อร้อยละ 38.6 นอกจากนี้ คนในเมืองจะรู้สึกว่าจะถูกรีดไถมากกว่าคนนอกเมืองเช่นกัน คือร้อยละ 25.1 หรือ 1 ใน 4   ต่อร้อยละ 16.8 และคนในเมืองจะรู้สึกว่า ตำรวจกร่าง พูดจาข่มขู่คุกคาม มากกว่าคนนอกเมือง เมื่อพบเห็นตำรวจ ร้อยละ 17.1        ต่อร้อยละ 14.2 ตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 ยังคงมีความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการทำงานของตำรวจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 23.5 พอใจระดับปานกลาง และร้อยละ 11.3 พอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่พอใจเลย


เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากได้จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 ระบุอยากให้แก้ปัญหาอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รองลงมาคือ ร้อยละ 52.8 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต   ร้อยละ 47.2 ระบุแก้ปัญหา “รีดไถ” ระบบส่วย ร้อยละ 45.1 ระบุเป็นมิตรกับประชาชนทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียม ร้อยละ 40.4 ระบุไม่ถูกการเมืองครอบงำ รองๆ ลงไปคือ ยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ สนใจปัญหาเด็กและเยาวชน เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ สนใจดูแลข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย และแก้ปัญหาการทำงานที่ล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพของข้าราชการตำรวจ

ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยากให้ “ตำรวจ” ทุกนายเร่งแก้ไข อันดับแรกหรือร้อยละ 68.4 ระบุปัญหาความไม่สงบและการใช้ความรุนแรง รองลงไปคือ ร้อยละ 63.3 ระบุปัญหาอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ร้อยละ 60.7 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 54.4 ระบุปัญหาแหล่งมั่วสุม บ่อน ซ่อง ร้อยละ 53.0 ปัญหาแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 49.9 ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ และรองๆ ลงไปคือ ปัญหาค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ปัญหาขายบริการทางเพศเด็กและเยาวชน ปัญหาข่มขู่คุกคาม และปัญหาคุกคามทางเพศเด็กและสตรี ตามลำดับ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเล็งเห็นความสำคัญของตำรวจและให้คะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของตำรวจระดับ "ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด” อย่างไรก็ตาม ในโอกาส “วันตำรวจ” นี้ มีเสียงสะท้อนส่วนใหญ่จากประชาชนที่เป็นความรู้สึก “ยอดเยี่ยม” คือ อุ่นใจ และรู้สึกปลอดภัย เมื่อเห็นตำรวจ แต่ยังไม่เต็มร้อย จึงจำเป็นที่ตำรวจน่าจะรักษาความรู้สึกดีเหล่านี้ไว้ ในทางตรงกันข้าม ผลสำรวจพบความรู้สึก “ยอดแย่” เมื่อประชาชนพบเห็นตำรวจคือ การเลือกปฏิบัติ ผลประโยชน์ และการถูกรีดไถ จึงเป็นความรู้สึกที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะหาหนทางลดทอนความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด

ในขณะเดียวกัน ปัญหาเดือดร้อนสำคัญของประชาชนที่ประชาชนอยากให้ ตำรวจทุกนายเร่งแก้ไข

อันดับแรกคือ ปัญหาความไม่สงบและการใช้ความรุนแรง ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหายาเสพติด โดยปัญหาเหล่านี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างตำรวจ กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ได้แก่ ประชาชนในชุมชน แกนนำชุมชน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง โดยตำรวจต้องมีความรวดเร็วฉับไวตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของ “หุ้นส่วน” ภาคประชาสังคม และสามารถป้องกันและ “จบปัญหา” ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.0 เป็นหญิง ร้อยละ 47.0  เป็นชาย

ตัวอย่างร้อยละ 8.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 13.4 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 16.9 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 38.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 15.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป  ร้อยละ  23.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 16.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ  ร้อยละ 11.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 9.0 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์