จีนเตรียมแซงหน้าประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ขึ้นเป็นสมาชิกที่มีอำนาจมากที่สุดอันดับสองหรือสาม
ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ภายใต้แผนการที่กำลังมีการหารือ เพื่อที่จะเพิ่มอิทธิพลมากขึ้นให้กับประเทศตลาดเกิดใหม่
เอกสารของไอเอ็มเอฟบ่งชี้ว่า การหารือเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนของประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟนั้น จะเป็นการให้อำนาจในการลงมติในไอเอ็มเอฟมากขึ้นต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และตุรกี
ประเทศตลาดเกิดใหม่อาทิ จีน ได้กลายเป็นตัวผลักดันที่สำคัญต่อการสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆกำลังเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก
อำนาจในการลงมติเพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศต่างๆอาทิ จีน มีอำนาจมากขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจในการปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟ และมีอิทธิพลมากขึ้นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจโลก
ข้อเสนอของไอเอ็มเอฟ จะเพิ่มส่วนแบ่งในการลงมติของประเทศตลาดเกิดใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะเพิ่มทรัพยากรของไอเอ็มเอฟ สู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น และจะลดอำนาจของประเทศยุโรปขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อาทิ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม
จีนเตรียมแซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นแท่นสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 2 ของไอเอ็มเอฟ
สำหรับ 3 ใน 4 กรณีศึกษาที่เจ้าหน้าที่ทำการเปิดเผยต่อคณะกรรมการไอเอ็มเอฟ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นบ่งชี้ว่า จีนจะพุ่งขึ้นเป็นสมาชิกที่มีอำนาจที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น จากอันดับ 6 ในปัจจุบันและในกรณีหนึ่งนั้น จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นสู่อันดับ 2 ซึ่งแต่ละกรณีนั้นครอบคลุมประเทศสมาชิกรายใหญ่ที่สุด 20 แห่งของไอเอ็มเอฟ
อินเดียจะขยับขึ้นจากอันดับ 11 มาอยู่ที่อันดับ 9 ซึ่งปัจจุบันเป็นของแคนาดา ขณะที่บราซิลจะขยับขึ้นจากอันดับ 14 มาที่อันดับ 11 และตุรกีจะกระโดดจากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับที่ 20
สเปนจะเป็นประเทศในยุโรปประเทศเดียวที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12 จากอันดับที่ 15 ขณะที่ซาอุดิอาระเบียจะหล่นจากอันดับที่ 8 ไปอยู่ที่อันดับ 13
สหรัฐฯจะยังคงเป็นประเทศสมาชิกที่มีอำนาจมากที่สุดของไอเอ็มเอฟ โดยมีโควต้า 17.67% ของส่วนแบ่งโควต้าทั้งหมด วึ่งเท่ากับมีอำนาจวีโต้ในไอเอ็มเอฟ
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะผลักดันข้อตกลงดังกล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี-20 ที่กรุงโซลในเดือน พย. โดยผู้นำจี-20 ได้ตกลงกันในปีที่ผ่านมาที่จะเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งโควต้าอย่างน้อยที่สุด 5% ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยโควต้าดังกล่าวจะกำหนดว่าประเทศสมาชิกแต่ละรายจะต้องให้เงินสมทบมากเพียงใด โดยคำนวณจากจีดีพี ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศและการค้าของแต่ละประเทศ