แฟชั่น “ขาสั้นโชว์เรียวขา” ระวังตกเป็นเป้ายุงลาย


สธ.เตือนสาววัยใสฮิตแฟชั่น “ขาสั้นโชว์เรียวขา” ระวังตกเป็นเป้ายุงลาย

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ภายหลังเปิดประชุมวิชาการการพยาบาล เพื่อพัฒนาระบบบริการดูแลประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือที่โรงแรมไพลิน จังหวัดสุโขทัย เมื่อเช้าวันนี้(25 กันยายน 2553)  ว่า สถานการณ์โรคในปีนี้ยังน่าห่วงมาก จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 2 เท่าตัว  ตั้งแต่เดือนมกราคม - 21 กันยายน 2553  ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมทั้งหมด 86,407  ราย มีผู้ป่วยเพิ่มเฉลี่ยวันละ 785 ราย   โดยผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 ต้องนอนโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการรุนแรง และกว่าร้อยละ 99.8 รักษาหาย  มีเสียชีวิตรวมทั้งหมด 100 ราย โดยอยู่ในภาคใต้มากที่สุด 49 ราย รองลงมาคือภาคกลาง 21 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ราย และภาคเหนือ 12 ราย   

ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก พบได้ทุกกลุ่มอายุ  แต่กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชาชนทุก100,000คน คืออายุ  10-14  ปี  พบได้แสนละ 332 คน รองลงมาอายุ 5-9 ปี พบแสนละ 259 คน กลุ่มอายุ 15-19 ปี พบแสนละ 231 คน และกลุ่มอายุ  20-24 ปี พบแสนละ 130  คน  สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น ก็คือเรื่องการแต่งตัวของวัยรุ่นไทย   ซึ่งขณะนี้กำลังฮิตใส่กางเกงขาสั้นตามแฟชั่นเกาหลี บางคนใส่สั้นมากจนเห็นต้นขา  แฟชั่นแบบนี้ยุงลายจะชอบ เพราะมีพื้นที่ให้ยุงเลือกเจาะดูดเลือดได้ง่าย และอาจถูกกัดได้วันละหลายตัว   ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงถูกยุงลายกัด หากเป็นไปได้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่นใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวที่มีสีอ่อนๆ ไม่ใช้สีดำที่ยุงชอบ  เพื่อปกปิดร่างกายไม่ให้ยุงลายกัดได้ง่ายขึ้น  

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และ อสม. ร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทุก 5-7  วัน โดยเฉพาะในบ้านเช่นน้ำในแจกันไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้กับข้าว  และรอบๆ บ้าน เช่นน้ำในจานรองกระถางต้นไม้ประดับ เศษวัสดุเก่าที่น้ำขังได้   เป็นวิธีการลดปริมาณยุงลายที่ดีที่สุด ส่วนด้านการรักษาผู้ป่วย   ได้เน้นย้ำให้แพทย์ พยาบาลทุกคน ปฏิบัติตามมาตรฐาน  หากพบผู้ป่วยทุกวัยที่มีไข้สูง ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกไว้ก่อน เพื่อการดูแลอย่างทันท่วงที    ประชาชนที่ป่วยมีอาการไข้สูง หากกินยาลดไข้หรือเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน  หรือผู้ป่วยมีอาการซึม  อาเจียน  ก็ขอให้นึกถึงว่าอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก   ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงเสียชีวิต  

ทั้งนี้ สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรงไปแล้ว คือมีภาวะซ็อค เนื่องจากมีเลือดออกในอวัยวะภายใน 

ทางด้าน นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่านิสัยของยุงลายตัวเมียที่เป็นตัวการนำเชื้อไข้เลือดออก  มักจะชอบออกหากินในช่วงกลางวัน  จากการศึกษา วิจัยพบว่าสิ่งที่ดึงดูดให้ยุงลายมากัดคนมี 3 ประการคือ คือกรดแลคติค (Lactic acid) ที่อยู่ในเหงื่อ  ก๊าซ-คาร์บอนไดออกไซด์ที่ขับออกมาจากลมหายใจและอุณหภูมิในร่างกาย เมื่อยุงลายที่อยู่ในรัศมี 100 เมตรสัมผัส 3 สิ่ง ที่กล่าวมา  ก็จะบินมาหาเป้าทันที              

วิธีการป้องกันยุงกัด   ประชาชนควรรักษาความสะอาดร่างกาย   หมั่นอาบน้ำชำระเหงื่อไคลให้สะอาด อย่าใช่วิธีซักแห้งเป็นอันขาด   โดยเฉพาะเด็กๆ ภายหลังเล่นมาแล้ว ควรให้อาบน้ำก่อนนอนกลางวัน  หรือให้นอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด   นอกจากนี้วิธีการป้องกันยุงกัด ที่ประชาชนนิยมใช้ขณะนี้ก็คือยาทากันยุง ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มีทั้งผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติ เช่นตะไคร้หอม เป็นต้น  และมียาทากันยุงที่ผลิตมาจากสารเคมีและมีกลิ่นหอม ซึ่งมีทั้งชนิดสเปรย์น้ำ  ชนิดผสมเป็นโลชั่น  โดยสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบหลักของยาทากันยุงชนิดนี้ได้แก่ เบนซิล เบนโซเอท (Benzyl benzoate)  สารดีอีอีที (DEET) หรือซิโตรเนลลาออยล์      ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ยาทากันยุงนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น  

นายแพทย์อนุตรศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการใช้ยาทากันยุง ควรปฏิบัติตามคำเตือนที่แนะนำบนฉลาก   โดยเฉพาะการใช้ยาทากันยุงในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีจะต้องระมัดระวัง  ต้องเลือกชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของสารดีอีอีที  เนื่องจากสารอาจซึมเข้าผิวหนังเด็กได้ง่ายเพราะผิวเด็กมีสภาพอ่อนบางกว่าผู้ใหญ่  อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ในการซื้อสามารถดูรายละเอียดที่ระบุในฉลากข้างขวดได้      ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาทากันยุง ควรทดสอบอาการแพ้ก่อน  โดยทาหรือพ่นที่ข้อพับของแขน หากเกิดผื่นคัน ผื่นแดงหรือรู้สึกร้อน ต้องหยุดใช้ และห้ามทาบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือบริเวณแผล ภายหลังการใช้ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 






เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์