"ตัวไรอ่อน พาหะนำโรคสครับไทฟัส และโรคมาลาเรีย"
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงหน้าหนาวมักมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมเดินป่า และมักจะกางเต็นท์นอนตามป่า ควรระวังเนื่องจากในป่าจะมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส และโรคไข้มาลาเรีย ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต จากรายงานในปี 49 พบมีคนป่วยจาก 2 โรคนี้แล้ว 24,199 ราย เสียชีวิต 40 ราย ประกอบด้วยโรคสครับไทฟัส 2,379 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคมาลาเรีย 21,820 ราย เสียชีวิต 37 ราย เพราะ 2 โรคนี้ไม่มียากินและไม่มีวัคซีนป้องกัน
ด้านน.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสครัปไทฟัสเกิดจากตัวไรอ่อนกัด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตต์เซีย (Rickettsia orientalis) ตัวไรอ่อนมีขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง อาศัยอยู่ตามพื้นดิน บริเวณที่ชุ่มชื้น มีใบไม้ใบหญ้าปกคลุม โดยไรอ่อนชอบกัดบริเวณร่มผ้า ได้แก่ ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้และคอ ผู้ที่ถูกกัดจะมีแผลไหม้คล้ายโดนบุหรี่จี้ คือตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆแผลจะแดง หลังถูกกัด 10-12 วันจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ และต้องแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบ