ไทยรัฐ
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าววานนี้ (17 พ.ย.) ว่า แนวทางแก้ปัญหาการจัดเก็บค่าใช้โครงข่าย หรือแอ็คเซ็สชาร์จ ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จัดเก็บจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 ราย คือ ดีแทค ทรูมูฟ และดิจิตอลโฟนนั้น รัฐต้องไม่เสียหาย โดยขณะนี้ทีโอทีมีรายได้จากค่าแอ็คเซ็สชาร์จที่ 3 บริษัทจัดส่งให้สูงถึง 14,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นรายได้หลักของทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถึงหุ้นทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ไม่ใช่ปกป้องผลประโยชน์ของเอกชน
ที่ผ่านมาเอกชนเต็มใจเซ็นสัญญากับทีโอที เพื่อขอใช้โครงข่ายภายในประเทศ พร้อมยอมรับข้อตกลงการจ่ายค่าใช้เครือข่าย 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน และร้อยละ 18 ของรายได้สำหรับโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินโดยไม่มีใครบังคับ จึงขอให้ยึดสัญญาเป็นหลัก การจะยกเลิกสัญญาต้องตกลงกันเองระหว่างคู่สัญญา แต่รัฐต้องไม่เสียเปรียบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าว และว่า หลังจากนี้ ทีโอทีจะตั้งหน่วยงานขึ้นตรวจสอบปริมาณสัญญาณการโทรเข้า-ออก ผ่านโครงข่ายของทีโอที เพื่อนำมากำหนดอัตราค่าเชื่อมโครงข่าย หรืออินเตอร์คอนเนคชั่นชาร์จ ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ประกาศใช้ตามหลักสากล คาดว่าจะใช้เวลาสักระยะ และอาจไม่ทันกำหนดใช้ จึงเชื่อว่า กทช.น่าจะพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ.
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรูมูฟ กล่าวว่า ได้ลงนามกับบริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เพื่อคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรืออินเตอร์คอนเนคชั่นชาร์จ ระหว่างกันแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
โดยเจ้าของโครงข่ายฝ่ายรับสายจะคิดอัตรานาทีละ 1 บาทจากผู้ประกอบการฝ่ายโทรออก และคิดค่าสัญญาณวิ่งผ่านเครือข่าย หรือ ทรานซิท นาทีละ 20 สตางค์ เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะไปสู่การยกเลิกจ่ายค่าใช้โครงข่าย หรือ แอ็คเซ็ส ชาร์จ แก่บริษัททีโอที ในอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายสำหรับโทรศัพท์ประเภทจดทะเบียน และอัตราร้อยละ 18 ของรายได้สำหรับประเภทบัตรเติมเงิน โดยหวังผลว่าจะทำให้ทีโอที พิจารณายกเลิกจัดเก็บถาวร เพื่อให้ดีแทคและทรูมูฟมีต้นทุนเท่าเทียมกับเอไอเอส อีกทั้งเชื่อว่าจะไม่ทำให้ทีโอทีเสียผลประโยชน์ เพราะหากทีโอทีหันมากำหนดอินเตอร์คอนเนคชั่นชาร์จเหมือนดีแทคและทรูมูฟ ก็จะทำให้มีรายได้สูงมาก กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว และว่า การเริ่มต้นของทั้ง 2 ผู้ประกอบการ จะถือเป็นก้าวแรกให้รายอื่นเร่งกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างกัน เพื่อให้เข้าสู่หลักสากล และจะทำให้ปัญหาการโทรติดยากลดลง ส่วนอนาคตดีแทคและทรูมูฟจะจับมือเพื่อทำตลาดร่วมกันเพื่อแข่งขันเอไอเอสหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า ปีที่ผ่านมาทรูจ่ายค่าแอ็คเซ็สชาร์จแก่ทีโอที 3,000 ล้านบาท แต่ถ้าทีโอทียกเลิกแล้วกำหนดอินเตอร์คอนเนคชั่นชาร์จ จะมีรายได้ชดเชยแน่ การร่วมมือของดีแทคกับทรูมูฟ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม