ระวัง! โรคร้ายฆ่าชีวิต อ๊อฟ-อภิชาติ หอบหืด-หลอดเลือดหัวใจตีบ

ระวัง! โรคร้ายฆ่าชีวิต อ๊อฟ-อภิชาติ หอบหืด-หลอดเลือดหัวใจตีบ

อภิชาติ พัวพิมล

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2549 18:09 น.

ภายหลังจาก อ๊อฟ อภิชาติ พัวพิมล ดาราหนุ่มเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งมารดามั่นใจว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคประจำตัว รวมทั้งมีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแทรกด้วยนั้น

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงอยากรู้ว่า ในทางการแพทย์นั้นโรคหอบหืดมีอาการน่ากลัวมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีวิธีการระมัดระวังตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็น และป้องกันไม่ให้โรคนี้สามารถทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่แม่ของอ๊อฟ ระบุเอาไว้ว่า อาจจะมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวถึงโรคหอบหืด ว่า โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดเกิดจากอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เกสรดอกไม้ ขี้ฝุ่น ไร ฯลฯ ซึ่งความรุนแรงแต่ละรายไม่เหมือนกัน บางคนไวต่อสิ่งที่แพ้ก็จะทำให้เกิดอาการหอบหืดมาก ขณะที่บางคนมีอาการหอบหืดน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น หากทราบว่าแพ้อาหารทะเล ก็ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล เป็นต้น ดังนั้น คนที่เป็นโรคหอบหืดจะต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ในกรณีของเด็กที่เป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้นก็สามารถหายได้เองอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดมากถึง 6% จากประชากรทั้งหมด

สมัยนี้คนเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น เพราะในเมืองมีมลภาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกำเริบ มี 2-3 อย่าง คือ เมื่อเป็นหวัดทำให้เกิดอาการหอบมากขึ้น หรือมีการสำลักน้ำ ก็จะเกิดการกระตุ้นให้ไอไม่หยุดบานปลายรุนแรงได้

นพ.ประดิษฐ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการรักษาหากเป็นไม่มาก ก็สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ยาพ่นจำพวกสเตียรอยด์ หรือฉีดยาแก้แพ้ สูดยาขยายหลอดลม หรือเพิ่มขนาดยาและตัวยาตามลักษณะอาการ ส่วนในรายที่เสียชีวิตจะมีประวัติการหอบอย่างรุนแรงมาก่อน อย่างกรณีของ ดี๊ ดอกมะดัน ซึ่งมีสถิติการเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่กรณีของอ๊อฟนั้นไม่ทราบว่ามีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการเครียด

แต่หากมารดาของอ๊อฟ ให้ข้อมูลว่า มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยนั้น ก็จะเป็นคนละส่วนกัน การเสียชีวิตจึงอาจมาจากหัวใจล้มเหลว เป็นอาการหอบจากโรคหัวใจ ไม่ใช่การเสียชีวิตจากโรคหอบหืด

การหอบจากอาการหัวใจล้มเหลวอาจถูกกระตุ้นจากการที่กินเค็มมากไป หรือเคยรักษาโรคหัวใจมีการรับประทานยาเป็นประจำ แต่ขาดยาหรือกินไม่ครบ มีการออกแรงมาก ก็อาจเกิดอาการหอบ แน่นหน้าอก หายไม่สะดวก หัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งอาการหอบเป็นการแสดงอาการอย่างหนึ่งเท่านั้นนพ.ประดิษฐ์ กล่าว

เปิดสถิติสุดโหดของโรคหืด คนไทยป่วย 3 ล.ตายปีละพันคน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2549 19:45 น.

เปิดสถิติสุดโหดของโรคหอบหืด มูลนิธิโรคหืดชี้ มีคนไทยป่วย 3 ล้านตายปีละ 1,000 คน 70%เสียชีวิตเพราะมาช้าเกินไป พร้อมระบุเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ชี้กรณีที่พ่อแม่ไม่เป็นโรคหืดแต่ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคหืดถึง 6% ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคหืดลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 20 % และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 60%

ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช นุชประยูร รองประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 300 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 1,000 คน โดย 70% ของผู้ป่วยมาถึง รพ.ช้าเกินไป ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้ป่วยประเมินประเทศไทยประเมินความรุนแรงของโรคต่ำไป บางคนคิดว่าเวลาจับหืดแค่ใช้ยาสูดแล้วอาการดีขึ้น ก็ไม่ได้มารักษา

ดังนั้นวิธีการป้องกันคือ ผู้ป่วยต้องรู้จักการใช้ยาอย่างถูกต้องคือ ยาสูดขยายหลอดลมและลดการอักเสบ และรู้จักประเมินความรุนแรงของโรคตัวเองเช่น ควรทำบันทึกว่าจับหืดตอนไหน อย่างไร หรือถ้าไม่มีอาการควรหมั่นตรวจเช็กสมรรถภาพปอด เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการ แต่พอไปเป่าลมตรวจสภาพปอดปรากฎว่าสมรรถภาพไม่ดี

ศ.กิตติคุณ นพ.ชัยเวช กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรง และเคยมีประวัติจับหืดรุนแรงมาก่อนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยบางคนคิดว่าสูดยาแล้วอาจหายได้เอง ไม่ไป รพ. แต่ก็มีอีกประเภทที่จับหืดขึ้นมาทันทีทันใด ทั้งนี้พยาธิสภาพของผู้ที่เสียชีวิต เป็นเพราะมีเสมหะออกมาอุดหลอดลม ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดไม่ได้

ที่สำคัญคือโรคหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้ในกรณีที่พ่อแม่ไม่เป็นโรคหืดแต่ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคหืดถึง 6%ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคหืดลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 20 % และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืด ลูกเกิดมามีโอกาสเป็นโรคหืด 60% โดยความรุนแรงของโรคมีผลมาจาก สิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละออกเกสรดอกไม้ ละอองหญ้า แมลงสาบ ควันบุหรี่ หรือสารระคายเคือง เช่น ถูกอากาศเย็น ไอเสียรถยนต์ อย่างไรก็ตามช่วงนี้อากาศเปลี่ยน ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย เชื้อไวรัสก็จะทำให้หืดกำเริบได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์