แบงก์ชาติยันไม่พบโจมตีค่าเงินบาท ระบุแข็งค่าตามภูมิภาค แนะป้องกันความเสี่ยง

นางธาริษา  วัฒนเกส  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย ยังไม่พบการเข้ามาถล่มเก็งกำไรอย่างที่เป็นห่วง

แม้ในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงต้นปี2553 มีปัญหาภายในประเทศ  ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคปรับแข็งกว่าไปก่อนหน้าตั้งแต่ช่วงต้นปี  โดยขณะนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากประเทศมาเลเซีย  ในแง่รายได้ผู้ส่งออกไทยอาจจะลดลงไป แต่จะมีตัวขับเคลื่อนอื่นเข้ามาชดเชยคือ การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศได้มากนักจากปัญหาทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ก็จะนำข้อมูลดังกล่าวรายงานกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 กันยายนนี้

“ขณะนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าอยู่ที่6.4% จากเดิมแข็งค่าอยู่ที่ 3.5% แต่ก็ยังเป็นไปตามประเทศในภูมิภาคหากเทียบกับกลุ่มประเทศจี 3 จะเห็นความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเป็นปัจจัยที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า  และหากดูการขยายตัวการส่งออกยังขยายตัวมากกว่า 30% หากจะกระทบคงจะส่งผลในแง่ของรายได้ผู้ส่งออก จึงควรป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า ที่มองว่าธปท.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่เต็มที่นั้น ก็ไม่รู้ว่าดูจากอะไร เพราะธปท.ยังดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากจนเกินไป แต่ค่าเงินก็คงต้องขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายด้วย ”

นางธาริษา กล่าวว่า  ขณะนี้มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศ30 %เป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มความระมัดระวังอยู่ และอย่างมาตรการที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียใช้ล่าสุดคือ

 ขยายระยะเวลาเงินทุนที่ไหลเข้ามาต้องอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลา 3 เดือนจากเดิม 1 เดือน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน แต่ของไทยเองก็ไม่ได้มีเงินทุนไหลเข้ามามากขนาดนั้น และหากดูในแง่ของความผันผวนแล้วค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่ำที่สุดในภูมิภาค  แต่มาตรการที่ธปท.ทำไปก่อนหน้ายังเป็นสิ่งเตือนใจผู้ลงทุนอยู่ เพราะนักลงทุนยังเกรงว่าธปท.เคยทำมาแล้ว อาจจะทำอีกก็ได้

นางธาริษา กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้า เพราะไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว และธปท.ไม่มีเกณฑ์ว่าจะให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง

แต่เรื่องของค่าเงินนั้น หากพิจารณาจากเดือนกรกฎาคมมีการขาดดุลจากที่มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทั้งนี้หากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ก็ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นของวัฏจักรการลงทุนภาคเอกชน และเป็นตัวที่จะเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศต่อไป  ทั้งนี้หากมีเงินไหลเข้าเร็ว-ออกเร็วภาคเอกชนก็ต้องป้องกันความเสี่ยงของตนเอง ใครที่ไม่ได้ทำก็ต้องทำ ขณะเดียวกันก็มองว่าภาคเอกชนควรจะต้องมีพัฒนา โดยเฉพาะภาคแรงงานที่ธปท.คาดว่าจะมีปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันคงต้องใช้จังหวะนี้ในการลงทุนด้านเครื่องจักร

“แนวโน้มคาดว่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้า แต่ก็ไม่ใช่จะเข้ามาเรื่อยๆ คงมีทั้งไหลเข้าและไหลออกตามกระแสข่าวภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป แต่ก็ไม่เชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างนี้ไปเรื่อยๆคงไม่ใช่ ขณะเดียวกันหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี การนำเข้าคงมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีการขาดดุลในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามการเงินบาที่แข็งค่าขึ้นก็มีทั้งคนได้และเสียผลประโยชน์ โดยรายได้ของผู้ส่งออกอาจจะลดลง ขณะที่ผู้นำเข้าก็จะได้ซื้อวัตถุดิบที่ถูกลง โดยเฉพาะน้ำมัน และเครื่องจักรที่จำเป็นจะต้องนำมาขยายกำลังการผลิต” นางธาริษากล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์