ทีมสำรวจพันธุ์ไม้ของกรมอุทยานฯพบต้นกะเพราชนิดใหม่ของโลกในภาคอีสานของไทย ซ่อนตัวอยู่ตามภูเขาหิน
วันนี้ 30 ส.ค.ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
แถลงข่าวการค้นพบพันธุ์ไม้ใหม่ของโลกในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดี เมี่อคณะสำรวจพันธุ์ไม้ของกรมอุทยานฯ นำโดยนายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญไม้วงศ์กะเพราของไทย ได้สำรวจพบกะเพราชนิดใหม่ของโลก วงศ์ Labiatae ที่บริเวณเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูวัว จ.หนองคาย ขึ้นอยู่บนดินตื้นๆ บนภูเขาหินทรายตามป่าเต็งรัง ลำต้นเป็นเหลี่ยม สูงประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร กิ่งมีขนสั้น นุ่ม ใบเดี่ยวเรียงตรงสลับตั้งฉาก ยาว 0.4 – 1 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนสากด้านบน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ออกดอกและติดผลเดือน ต.ค. – ธ.ค.แต่กลิ่นไม่รุนแรงเหมือนกะเพราบ้านทั่วไป ส่วนจะรับประทานเป็นอาหารได้หรือไม่ ยังไม่ได้ทดลอง
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมตีพิมพ์ประกาศให้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
โดยจะให้แล้วเสร็จในปี 2553 นี้ หลังจากที่ใช้เวลาในการตรวจสอบกับตัวอย่างพรรณไม้ต่างๆ ที่ใกล้เคียงในหอพรรณไม้ต่างๆ ทั่วโลก และไม่พบว่ากะเพราพันธุ์ใหม่ของไทยไปซ้ำหรือใกล้เคียงกับของประเทศอื่น ดังนั้นจึงเป็นกะเพราพันธุ์ใหม่ของโลก ทั้งนี้ จะให้ชื่อว่า“กะเพราศักดิ์สิทธิ์ (Platostoma tridechii Suddee )” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และคุณูปการแก่นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ได้ทำหน้าที่ปกป้อง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนจบชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่
“การตั้งชื่อกะเพราพันธุ์ใหม่ของโลกชื่อกะเพราศักดิ์สิทธิ์ น่าจะเหมาะสมเพราะนายศักดิ์สิทธิ์ ชอบรับประทานผัดกะเพรามาก และกะเพราพันธุ์ใหม่ยังมีอยู่ที่เดียวคือภูวัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคบ้านเกิดของนายศักดิ์สิทธิ์ โดยกรมอุทยานฯ จะศึกษาเพื่อขยายพันธุ์ เพราะจัดเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์”อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว