"โสภณ" สั่งห้าม รฟท.ต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินทั่วไทยกว่า 234,000 ไร่กับเอกชนรายเดิม เหตุต้องรอตั้งหน่วยธุรกิจบริหารทรัพย์สิน (BU) มากำหนดกรอบการจัดเก็บผลประโยชน์แสนล้าน พร้อมลั่นกลองเปิดให้บริการ "แอร์พอร์ตลิงก์" เชิงพาณิชย์วันนี้...
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
พบว่ามีหลายสัญญาที่ รฟท.ทำกับเอกชนจะครบกำหนดหมดสัญญา ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้ รฟท.ชะลอการพิจารณาต่ออายุสัญญาไว้ก่อน จนกว่าหน่วยธุรกิจบริหารทรัพย์สิน (BU) ที่ รฟท.กำลังดำเนินการจดทะเบียนจะจัดตั้งแล้วเสร็จและได้ผู้บริหารระดับสูงในเดือน ต.ค.53 นี้ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพย์สินให้มีรายได้เข้า รฟท.เพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นเท่าไรขึ้นอยู่กับหน่วยบียูที่จัดตั้งขึ้น
ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ รฟท.กล่าวว่า การบริหารทรัพย์สินของ รฟท.หลังมีบียูก็เพื่อให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งต้องประเมินราคาทรัพย์สินที่ รฟท.มีอยู่ โดยบียูที่จัดตั้งขึ้นต้องจัดทำแผนการจัดเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ โดย รฟท.เตรียมนำที่ดินที่มีอยู่ในมือกว่า 234,000 ไร่ทั่วประเทศ เช่น มักกะสัน, สถานีแม่น้ำ, ย่านพหลโยธิน, พระนครศรีอยุธยา, เชียงใหม่ และหัวหิน มาพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นคอมเพล็กซ์ โรงแรม โดยเปิดให้เอกชนเข้าประมูล
นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน รฟท.กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.มีสัญญาให้เอกชนเช่าที่ดินบริเวณริมถนนรัชดาภิเษก 55 ราย รวม 200 แปลง
และอยู่ระหว่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนในรูปแบบเชิงธุรกิจ 3 แห่ง เช่น ที่ดินแปลง 4, 5, 6 ซึ่งมีจำนวนรวม 2.91 ไร่ อยู่ตามแนวทางรถไฟสายบางซื่อ-คลองตัน มูลค่าโครงการต้องไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท โดยต้องก่อสร้างอาคารพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,500 ตารางเมตร (ตร.ม.) พร้อมพื้นที่จอดรถตามที่กฎหมายกำหนด และต้องเสนอเงินค่าเช่าที่ดินเพื่อจัดประโยชน์ตามพื้นที่เช่าปีแรกไม่น้อยกว่า ตร.ม.ละ 518.70 บาทต่อปี หรือเงินแรกเข้า 2,416,364 บาท และเพิ่มค่าเช่า 5% ทุกปี
ทั้งนี้ สัญญาเช่าบริเวณริมถนนรัชดาฯส่วนใหญ่ยังไม่หมดอายุสัญญาใน 1-2 ปีนี้
เพราะสัญญามีอายุ 30 ปี ส่วนใหญ่จะเหลืออายุสัญญาประมาณ 10 ปีขึ้นไป ส่วนการปรับราคาค่าเช่านั้น ขณะนี้ รฟท.ยังไม่มีแผนที่จะปรับค่าเช่าเนื่องจากยังไม่หมดสัญญาเช่า โดย รฟท.มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าที่ดินริมถนนรัชดาฯตลอดอายุสัญญา 150,437,289 บาท ส่วนที่ดินที่มีปัญหาและอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง เช่น ที่ดินย่านพหลโยธิน ที่ รฟท.ได้ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายในตลาดนัดซันเดย์กับบริษัทเจริญพลาซ่า จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 175 ล้านบาท เพราะเอกชนต้องการขอต่ออายุสัญญาเป็น 30 ปีบวกอีก 4 ปี แต่ รฟท.ทำให้ไม่ได้ เพราะสัญญาของ รฟท.ระบุไว้ว่าผู้เช่าจะต้องก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 2 ปี และมีสัญญาเช่า 4 ปี แต่ผู้เช่ารายเดิมไม่ต้องการต่อสัญญาระยะสั้น จึงเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฟ้องขับไล่
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า นับตั้งแต่ รฟท.เปิดทดสอบระบบและให้บริการฟรีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มาตั้งแต่ 1 มิ.ย.
มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยถึงวันละ 17,000 คน และวันที่ 23 ส.ค.นี้ รฟท.จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในราคาพิเศษคนละ 100 บาท/คน/เที่ยว โดยที่ยังไม่เปิดระบบเช็กอิน เริ่มจากสถานีมักกะสัน-สถานีสุวรรณภูมิ ถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ คือ รถไฟฟ้า CITY LINE เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท และรถ EXPRESS LINE 150 บาท ซึ่งรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบจะให้บริการตั้งแต่ 06.00-24.00 น. มีรถออกทุกๆ 15 นาที