เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดสัมมนา "ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสุขภาวะ" โดยพญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า จากสถิติในช่วง 30 ปี ระหว่างปี 2513-2544 พบว่า ทั่วโลกได้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น เช่น การเกิดพายุแรง 121 ครั้ง ในระหว่างปี 2513-2522 ขณะที่ในปี 2532-2543 พบพายุ 300 ครั้ง ไฟป่า 11 ครั้ง เพิ่มเป็น 54 ครั้ง ดินถล่ม 34 ครั้ง เพิ่มเป็น 114 ครั้ง คลื่นยักษ์ 2 ครั้ง เพิ่มเป็น 12 ครั้ง อุณหภูมิสูงจัด 9 ครั้ง เพิ่มเป็น 70 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งหากไม่มีมาตรการแก้ไขคาดว่าความสูญเสียของทุกประเทศในแต่ละปีจะมีมูลค่าสูงถึง 5-20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของโลก (world GDP) สำหรับประเทศไทย 5% ของ GDP จะมีมูลค่าถึง 4.5 แสนล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน
พญ.พรพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก
เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 31 ของโลก หรืออันดับ 4 ของอาเซียน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยสูงขึ้น จำนวนวันที่มีอากาศร้อนเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น 20 มิลลิเมตรต่อปี นับตั้งแต่ปี 2503 เป็นเหตุให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยถึงขั้นวิกฤติ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การสร้างความตระหนักในสังคม และในระดับนโยบาย ควรมีการทำงานที่เชื่อมโยงกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ต้องดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับระดับท้องถิ่นที่ต้องสร้างความร่วมมือของชุมชนให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อเป็นปราการหนึ่งในการพิทักษ์สุขภาพจากโลกร้อน
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้จำนวนวันที่ร้อนกว่า 35 องศา มีมากขึ้น โดยภาคที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงกลางวันคือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือตอนล่าง ในช่วงเดือนเมษายน จะมีอุณหภูมิประมาณ 42-43 องศา ส่วนคืนที่เย็นจะหายไปเรื่อยๆ
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
ประเทศไทยมีผู้เจ็บป่วยจากความร้อนเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ มุกดาหาร ตามด้วยนครราชสีมา และกาญจนบุรี ส่วนผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากปัญหาหมอกควัน ซึ่งในภาคเหนือ มีผู้ป่วยจากระบบทางเดินหายใจถึง 1 แสนราย โดยจ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองสูงสุด เพราะมีปริมาณฝุ่นสูงสุด ตามด้วยจ.น่าน และพะเยา