สภาทนาย ติงใช้ดุลพินิจ"ผู้ประกอบการ"ไม่ซ้ำคนจน อ.อัยการอาญา ชี้คดีลักซาละเปายกฟ้อง รมว.พม.นำพบสภาทนายช่วยอุทธรณ์"พงศพัศ"จะมอบ5หมื่นใช้หนี้
โดยระบุว่า ดูตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ มาตรา 38 ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า จำหน่ายภาพยนตร์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 200,000 - 1 ล้านบาทนั้น น่าจะต้องดูนิยามคำว่า “ผู้ประกอบการ” ควรจะหมายถึง ผู้ประกอบการเป็นกิจวัตร อาชีพประจำ เช่น เปิดร้านเป็นกิจจะลักษณะหรือไม่ ซึ่งคำนี้น่าจะถือว่าเป็นองค์ประกอบความผิด
นายสุรัตน์เป็นพนักงานเก็บขยะ หารายได้เสริมโดยปูเสื่อวางแผ่นหนังขาย ไม่น่าจะมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ
ตามความหมายมาตรา38 นอกจากนี้ยังต้องดูเจตนาของผู้กระทำผิดด้วย เช่น หากรู้สำนึกในการกระทำ หรือกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลอยู่แล้ว ถ้าหากเขาไม่มีเจตนาขายเป็นล่ำเป็นสัน เพียงหาเงินไปซื้อข้าวของเลี้ยงดูบุตร อย่างนี้จะเรียกว่ามีเจตนากระทำผิดหรือไม่ เมื่อเทียบกับคดีเด็กขโมยซาลาเปาในห้างค้าปลีกเมื่อ 10 ปีก่อน อัยการก็สั่งไม่ฟ้องเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวนายสุรัตน์ ยังมีสิทธิ์ตามกฎหมายจะยื่นอุทธรณ์ - ฎีกาต่อไป
“ตำรวจเป็นด่านแรกในการกลั่นกรองคดี ไม่ให้คนต้องถูกลงโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น ไม่อย่างนั้นคนจนที่ไม่เคยคิดเป็นโจรอาจต้องติดคุก ตำรวจน่าจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง” โฆษกสภาทนายความกล่าว
อ.อัยการคดีอาญา ยกลักซาละเปาเลี้ยงน้องเคยยกฟ้อง
นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าได้ติดตามข่าวนี้แล้วแต่ยังไม่ได้เรียกสำนวนมาดู เชื่อว่าที่ศาลมีคำพิพากษานั้น เป็นไปตามการบังคับบทบัญญัติกฎหมายที่สั่งปรับขั้นต่ำสุดแล้ว คือ 200,100 บาท และศาลพิจารณาลดโทษให้เหลือปรับ 133,400 บาท การที่ศาลจะมีคำพิพากษานั้นต้องพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย จะใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เป็นไปในทางเดียวกับความรู้สึกของกระแสสังคม ขณะที่การตัดสินคดีเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคน ส่วนคดีนี้จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอลดโทษให้เบาลงก็ได้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ถือเป็นการใช้ดุลยพินิจของศาลสูง
ขณะที่ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าวว่ารู้สึกเห็นใจนายสุรัตน์ น่าเสียดายจำเลยไม่ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาในระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ เพื่อพิจารณาว่าต้องเรียกพยานมาสอบเพิ่มเติม ประเด็นว่านายสุรัตน์มีอาชีพเป็นลูกจ้างกทม. เก็บขยะมาขาย จะเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการจำหน่าย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่
"ความจริงกฎหมายออกมาบังคับใช้ 2 ปีแล้ว แต่คนทั่วไปไม่รู้ หากคำนึงถึงสภาพของคนเก็บขยะอย่างนี้ต้องดูว่าเขาจะมีเจตนาพิเศษไปกระทำผิดตามกฎหมายนี้หรือไม่ จากตัวอย่างคดีนี้อัยการจะทบทวนการวินิจฉัยสั่งคดีในแนวทางไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาใช้อย่างเคร่งครัด เช่นคดีเด็กลักซาลาเปา 2 ลูกมาเลี้ยงน้องอดอยาก ที่อัยการเคยสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว" อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าว