เอสไอแบ่ง 5 รูปแบบอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หวังไล่บี้เล่นงานเหล่าวายร้ายออนไลน์
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ดูแลรับผิดชอบคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ว่า ในปัจจุบันได้จัดหมวดหมู่คดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไว้ 5 ประเภทหลัก คือ
1.แฮกเกอร์ (Hacker) คือ พวกไปแอบดูหรือขโมยข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการแอบดูพาสเวิร์ดแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปก่อคดีอาชญากรรมอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่บางครั้งมีการแอบเข้าไปดูข้อสอบหรือความรู้อื่น ๆ เนื่องจากบางครั้งเทคโนโลยีก็มีจุดโหว่เป็นช่องว่างให้เข้ามาได้ กฎหมายใหม่จึงต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า การเข้าไปดูข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญา เช่น การไปแอบดูข้อมูลบัตรเครดิตผู้อื่น
2.แครกเกอร์ (Cracker) คือ พวกที่ทำความเสียหายในระบบ เช่น เข้าไปโกง ฟอกเงิน เข้าไปบิดเบือดข้อมูล ขโมยความลับของบริษัทเอกชนหรือเข้าไปขโมยข้อมูลความลับของชาติซึ่งถือเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่ร้ายแรงที่สุด
3.พวกเผยแพร่ไวรัส พวกนี้แม้ว่าจะไม่ได้ทำอาชญากรรมโดยตรง แต่เป็นพวกที่จับยากที่สุด เพราะไวรัสเผยแพร่เร็วและขยายวงกว้าง ทั้งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน ทราบว่าทางกระทรวงไอซีทีจึงจะมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับไวรัสขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับกฎหมายของสหรัฐฯ
4.อาชญากรรมในส่วนของการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตแล้วไม่จ่ายเงิน ส่วนนี้ต่อไปเมื่อ พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ประกาศใช้ จะสามารถตามจับคนที่ทำผิดได้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่จับได้เฉพาะการทำความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น การซื้อของแบบอี-คอมเมอส์ ที่คนขายอยู่ประเทศหนึ่ง คนซื้ออยู่อีกประเทศและแหล่งสินค้าอาจจะอยู่อีกประเทศก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันมีการค้าในรูปแบบนี้อยู่มาก
5.การกำจัดภาพโป๊อนาจารแบบรื้อเครือข่าย ส่วนนี้กระทรวงไอซีทีควบคุมได้ เพราะส่วนใหญ่ก็ทำจากเครื่องพีซี ทุกวันนี้ป้องกันไม่ให้คนมาเปิดดู พยายามไล่ติดตามปิดบล็อกที่ไอเอสพี ไม่ให้เปิดดูเว็บไซต์ ล่าสุดกำลังไล่ติดตามจับคนที่ทำเว็บไซต์เหล่านี้ด้วย โดยมีข้อมูลเว็บไซต์ภาพโป๊อนาจารในประเทศไทยมีอยู่ ประมาณ 120 เว็บไซต์จะลิงค์ถึงกันเป็นเครือข่าย เพื่อหาสมาชิกใหม่.