สลดพฤติกรรมเด็กไทยติด มือถือ งอม แฉเด็กอาชีวะดูเว็บโป๊มากที่สุด
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากที่สถาบันรามจิตติร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตเกี่ยวกับเทคโนโลยี ตั้งแต่ เดือน ก.ย.-ต.ค.2548 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชน 3,360 คน ระดับชั้นประถมศึกษา-อุดมศึกษาทั่วทุกภูมิภาค รวม 14 จังหวัด พบว่า ในหัวข้อชีวิต (เสพ) ติดมือถือ ร้อยละ 48.6 รู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต เด็กใน กทม. และปริมณฑลติดมือถือมากที่สุด ถึงร้อยละ 56.9 และร้อยละ 26.4 บอกว่าเครียดเมื่อเห็นบิลค่าโทรศัพท์เด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยติดมือถือมากที่สุด รองลงมา คือเด็กอาชีวะ ในหัวข้อชีวิตติดเกม พบว่า ร้อยละ 41.4 ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงมากกว่าความรู้ ร้อยละ 64.7 ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ และร้อยละ 33.6 เคยแอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในเวลาเรียน ซึ่งถ้าวันไหนไม่ได้เล่นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนขาดอะไรบางอย่างในชีวิต รวมทั้งเด็กประถมชอบเล่นเกมมากที่สุด ตามด้วยเด็กมัธยมต้น และเด็กอาชีวะ
ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวต่อว่า ส่วนหัวข้อเด็กกับเว็บโป๊พบว่า ร้อยละ 20 เข้าไปดูเว็บโป๊ในอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ร้อยละ 30.2 เป็นเด็กผู้ชาย ร้อยละ 9.8 เป็นเด็กผู้หญิง โดยที่เด็กอาชีวะเข้าไปดูเว็บโป๊มากที่สุด หัวข้อการใช้โทรศัพท์มือถือร้อยละ 50.17 รู้สึกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมีผลทางลบต่อตนเอง คือเกิดอารมณ์ใจร้อน และขี้เหงา รวมทั้งการคุยโทรศัพท์มือถือนานๆทำให้สุขภาพอ่อนแอ หรือคุยจนอดนอนและมีผลกระทบต่อการเรียน ทำให้การเรียนแย่ลง เพราะมัวแต่คุยโทรศัพท์ และทำให้เปลืองเงินและเสียเวลาด้วย รวมทั้งจะมีการคุยโทรศัพท์โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 1 ชั่วโมง ส่งข้อความทางโทรศัพท์ วันละ 2 ครั้ง โหลดภาพวันละ 2 รอบ เพศหญิงคุยโทรศัพท์ มากกว่าเพศชาย
ด้านการเช็กอีเมล์ แชต เด็กมัธยมปลายนิยมเข้าไปแชตสูงสุด ฟังเพลงจาก mp3, cd ดูหนังจากวีซีดี ซีดี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของค่าใช้ชีวิตไซเบอร์ หากใช้เทคโนโลยีเต็มรูปแบบจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 1,500 บาท ดร.อมรวิชช์ กล่าวและว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ที่น่าคิดว่า รัฐบาล พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะดูแลและหาทางออกกันอย่างไร จะกำจัดสื่อร้ายๆให้เด็กได้เล่นกับสื่อดีๆ สิ่งที่สำคัญคือการรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมนี้อยากให้พ่อแม่ ส่งเสริมให้ลูกได้พบปะพูดคุยกับคนจริงๆ เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีให้ครอบครัว.