สลดใจ!แฉเหยื่อทางเพศมีตั้งแต่ 3 ขวบ

เปิดสถิติเหยื่อทางเพศแห่ขอคำปรึกษาเพียบ ทั้งข่มขืน รุมโทรม ไม่เว้นแม้แต่เด็ก 3 ขวบ ชี้ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด  อึ้ง 22% เจอในที่ทำงาน ชี้น้ำเมาเป็นเหตุ


วันนี้ (9 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ทางมูลนิธิเพื่อนหญิงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง "การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมร้ายรายวันของสังคม" โดย น.ส.พัชรี จุลหิรัญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ พบว่ามีผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิในปี 2552 ทั้งสิ้น 775 ราย  ในจำนวนนี้พบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย คิดเป็น 11 %  โดยแยกเป็น 1.กรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา 45 ราย คิดเป็น 54 % 2.พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 8 ราย คิดเป็น 10 % 3.พรากผู้เยาว์โดยการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ 9 ราย คิดเป็น 11% 4.กรณีถูกรุมโทรม 7 ราย คิดเป็น 9 % โดยมีผู้กระทำรุมโทรมมากสุดถึง 9 ราย 5.อนาจาร 7 ราย คิดเป็น 9% 6.การคุกคามทางเพศ 3 ราย คิดเป็น 4% และ7.พยายามข่มขืน ค้ามนุษย์ แอบถ่าย โชว์อนาจาร 4 ราย หรือคิดเป็น 4 %

น.ส.พัชรี กล่าวต่อว่า ที่น่าตกใจคือ มีผู้กระทำ 33 ราย หรือ 40% เป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย

เช่น เป็นเพื่อนหรือเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้เสียหายที่อายุน้อยสุดคือ 3 ขวบ ซึ่งถูกญาติใช้นิ้วล่วงละเมิดเด็ก ส่วนผู้กระทำมีอายุมากสุดคือ 78 ปี ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการอนาจารลูกตัวเองที่มีอายุเพียง 10 ปี และบางรายขอหลับนอนกับลูกอายุ 24 ปี  อย่างไรก็ตามการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากถึง 24 %


โดยการกระทำคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ อาทิ

แตะเนื้อต้องตัว ดักรอ พบเจอ ข่มขู่ อนาจาร พยายามสร้างโอกาส บางรายถึงขั้นมอมยาลูกจ้างและใช้อาวุธปืนขู่แล้วพยายามข่มขืน ในขณะที่ผู้เสียหายบางรายปกป้องสิทธิของตนเองด้วยการดำเนินคดีและร้องเรียนทางวินัย กลับถูกหน่วยงานและเพื่อนร่วมงานมองว่ากระด้างกระเดื่องต่อหัวหน้า อย่างไรก็ตามจากสถานภาพปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ผู้กระทำยังมีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ตามมา
 
ด้าน รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ ผอ.ศูนย์สหวิทยาการชุมชม ศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า


จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงกับเพศตรงข้ามแล้ว ผู้กระทำบางรายยังมีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย จากการสอบถาม ผู้กระทำส่วนใหญ่มักมีข้ออ้างว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดความต้องการทางเพศจนไม่สามารถควบคุมสติได้ จนทำให้ข่มขืนเพื่อนร่วมงานที่ดื่มด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นข้ออ้างเพื่อยืนยันว่าพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นไม่ได้เจตนา ซึ่งถือเป็นการปัดความรับผิดชอบ ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ยังทำให้ผู้เสียหายขาดโอกาสในการปกป้องตัวเองจากการถูกละเมิดทางเพศ เพราะดื่มจนมึนเมา หมดสติ
 
"สาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าร้องเรียน เพื่อขอความเป็นธรรม เช่น ไม่กล้าเล่าปัญหาของตัวเองให้ใครรับรู้ เพราะรู้สึกอับอาย หวาดกลัว จึงทำให้ต้องถูกละเมิดทางเพศหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงข้อเสนอมาตรการ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ควรมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ เพื่อลดความลำบาก การเกรงกลัวอำนาจของผู้กระทำ 2.สถานที่ทำงานต้องประเมินความเสี่ยงจากการถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ โดยสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.ควรมีการจัดระบบให้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง โดยสามารถแจ้งความไม่ปลอดภัยของตนเองได้ 4.กำหนดแนวทางการป้องกัน มีบทลงโทษที่ชัดเจน และ5. บันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ เพื่อการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์