สาธารณสุข เผยผลวิจัยคุณค่าโภชนาการในแมลงกินได้ยอตฮิต 8 ชนิดในไทย พบมีโปรตีนคุณภาพดีเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ แต่เตือนคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง คนเป็นโรคภูมิแพ้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้...
นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า
ขณะนี้กระแสความนิยมบริโภคแมลงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ จากเดิมที่ชาวชนบทนิยมนำมาปรุงเป็นกับข้าว แต่ขณะนี้กลายเป็นการบริโภคเป็นอาหารว่าง ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณการบริโภคแมลงทุกชนิดหลายร้อยตัน จนกระทั่งมีธุรกิจเพาะพันธุ์แมลงเพื่อนำมาขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงแมลงส่งขายและผู้นำไปทอดขาย
ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิดที่นิยมได้แก่ แมงกินูน แมงกุดจี่ แมงดานา ตัวอ่อนผึ้ง มดแดง ตัวอ่อนของต่อ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระชอน แมลงตับเต่าหรือด้วงติ่ง แมลงเม่า หนอน และดักแด้ไหม โดยมีตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ เป็นแหล่งนำเข้าแมลงจากประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ ก่อนส่งขายไปทั่วประเทศ คาดว่ามีปริมาณนำเข้าไม่ต่ำกว่าวันละ 40 ตัน หรือมูลค่าเกือบสิบล้านบาทต่อวัน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ได้ศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ ที่นิยมรับประทานในไทย 8 ชนิดได้แก่ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ดักแด้ไหม ตั๊กแตนปาทังก้า ตัวอ่อนของต่อ แมลงกินูน แมลงป่อง และหนอนไม้ไผ่ พบว่า แมลงในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีพลังงาน 98-231 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 9-28 กรัม ไขมัน 2-20 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1-5 กรัม ซึ่งโปรตีนในแมลงทุกชนิดยกเว้นหนอนไม้ไผ่ มีปริมาณเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน แมลงที่มีพลังงานและไขมันสูงที่สุดคือ หนอนไม้ไผ่ แมลงที่มีโปรตีนสูงสุด คือ ตั๊กแตนปาทังก้า รองลงมาคือแมงป่อง ส่วนคอเลสเตอรอลพบในจิ้งหรีดมีมากที่สุด มากเท่ากับที่อยู่ในหัวกุ้งสดหรือน่องไก่ในน้ำหนักเท่ากัน ในแมลงป่องมีคอเลสเตอรอลเทียบเท่ากับหนังไก่