คนไทยเฮเตรียมชมฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์ 3 ปีมีครั้ง กลางดึกวันที่ 12 ส.ค. ต่อเนื่องถึงเช้ามืด 13 ส.ค.นี้
วันนี้ ( 3 ส.ค.) รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดเผยว่าช่วงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 12 ส.ค.53 จนถึงเวลา 05.00 น. วันที่ 13 ส.ค.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์ ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่มากที่สุด สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วพื้นที่ประเทศไทย ในสถานที่โล่งแจ้ง ท้องฟ้าเปิด ไม่มีแสงไฟรบกวน ถ้ามีแสงรบกวน จะมีผลทำให้มองเห็นฝนดาวตกลดลง
ผู้สนใจชมฝนดาวตก ต้องเตรียมผ้าห่มหรือถุงนอนให้พร้อม ควรพกยาทากันแมลงไปด้วยเพื่อป้องกันแมลงและยุง
สิ่งสำคัญสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลย คือ เก้าอี้นอนแบบเอนได้ หรือเสื่อสำหรับปูนอน หลังจากเอนตัวนอนเรียบร้อยแล้ว ให้เพ่งมองไปที่ดวงดาวอย่างอดทน ส่วนการนับจำนวนของดาวตกนั้น นิยมนับจากผู้สังเกตเพียงคนเดียวที่สังเกตภายในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องเป็นดาวตกที่อยู่เหนือศีรษะและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิดส์ จะสังเกตเห็นได้ดีที่สุด ทุก 3 ปี
โดยครั้งก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในปี 2550 และครั้งนี้คาดว่าไม่มีแสงจันทร์รบกวน เนื่องจากเป็นช่วงข้างขึ้น 1-2 ค่ำ ถึงแม้ฝนดาวตกจะมีช่วงเวลาในการเกิดหลายวัน แต่องค์การอุกกาบาตนานาชาติได้ให้ข้อมูลเวลาที่สามารถชมฝนดาวตกมากที่สุด คือช่วงเช้ามืดวันที่ 13 ส.ค.53 ตามเวลาประเทศไทย โดยในปีนี้มีอัตราการตกสูงถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง ส่วนจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก อยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวค้างคาว และกลุ่มดาวเปอร์เซอิดส์ ขณะที่ชมปรากฏการณ์ ยังมีกระจุกดาวคู่ และกาแล็กซีแอนโดรเมดา ซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อีกด้วย โดยฝนดาวตกนี้ได้ฝากความทรงจำอันน่าประทับใจไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2533 เมื่อดาวหางซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกได้โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และจะโคจรกลับมาอีกครั้งในปีพ.ศ.2669 แม้ว่าชิ้นส่วนของดาวหางถูกทิ้งไว้นับ 20 ปี แต่ชิ้นส่วนเหล่านี้ยังทำให้ฝนดาวตกสวยงามอยู่เสมอ แต่อาจจะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเศษชิ้นส่วนของดาวหางที่ถูกทิ้งไว้เมื่อปีพ.ศ. 984 และพ.ศ.2022 .