วันนี้ 31 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงคมนาคม นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ว่า รฟท.ได้เสนอขออนุมัติปรับโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟเพิ่มขึ้น 10% สำหรับรถไฟชั้น 1 ,2 ,3 แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อนโยบายการให้ความช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล และเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องรับภาระเพิ่มขึ้น จึงมีมติให้รฟท.พิจารณาปรับค่าโดยสารชั้น 1 และชั้น 2 เท่านั้น โดยชะลอการปรับค่าโดยสารชั้น 3 ไว้ก่อน และให้รฟท.หารือกับกระทรวงการคลังว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากกระทรวงการคลังเห็นชอบ รฟท.จะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้
“ ตอนแรกรฟท.ได้เสนอขอปรับค่าโดยสารเฉพาะรถไฟชั้น 3 ซึ่งจะส่งผลให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ114 ล้านบาท และหากปรับราคาทุกชั้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 211 ล้านบาท สาเหตุที่ชะลอการปรับค่าโดยสารชั้น 1 และชั้น 2 เป็นเพราะอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันค่อนข้างสูง หากปรับเพิ่มอาจส่งผลให้ผู้โดยสารรถไฟชั้น 1 และชั้น 2 ลดลง เพราะประชาชนจะเลือกใช้บริการระบบขนส่งอื่นที่มีค่าโดยสารใกล้เคียงกันแทน โดยการปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ในระยะทาง100 กม.แรกเพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 0.237 บาท จากเดิม 0.215 บาท แต่บอร์ดเห็นว่า หากขึ้นค่าโดยสารชั้น 3 จะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย จึงให้ปรับราคาค่าโดยสารชั้น 1 และ 2 เท่านั้น ”
รฟท. สุดอั้นขอปรับค่าโดยสารทุกชั้นเพิ่ม 10%
สำหรับการปรับค่าโดยสารชั้น 1 และชั้น 2 เพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลให้ค่าโดยสารชั้น 1
ในระยะทาง 100 กม.แรกเพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 1.025 บาท จากเดิมกม.ละ 0.932 บาท ส่วนระยะทางตั้งแต่ 101-200 กม. จะเพิ่มเป็นกม.ละ 0.938 บาท จากเดิม 0.853 บาท ระยะทางตั้งแต่201-300 กม. เพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 0.864 บาท จากเดิม 0.785 บาท และระยะทางตั้งแต่ 301 กม.ขึ้นไป เพิ่มเป็นกม.ละ 0.813 บาท จากเดิมกม.ละ 0.739 บาท
ส่วนค่าโดยสารรถไฟชั้น 2 ในระยะทาง 100 กม.แรก จะเพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 0.537 บาท จากปัจจุบันกม.ละ 0.488 บาท ระยะทางตั้งแต่101-200 กม. เพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ0.462 บาท จากเดิมกม.ละ 0.420 บาท ระยะทางตั้งแต่ 201-300 กม.เพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 0.413 บาท จากเดิมกม.ละ 0.375 บาท และระยะทางตั้งแต่ 301 กม.ขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นกม.ละ 0.370 บาท จากเดิมกม.ละ 0.336 บาท
"การเสนอขอปรับค่าโดยสารรถไฟครั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงการให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2553 และข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ระหว่างรฟท.และกระทรวงการคลัง ซึ่งการปรับโครงสร้างค่าโดยสารเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าว และคาดว่าการปรับค่าโดยสารดังกล่าวจะส่งผลให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 97 ล้านบาท"นายยุทธนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารรถไฟในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ยังคงเป็นโครงสร้างที่ใช้เมื่อปี 2528 และรฟท.ได้รับอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารครั้งล่าสุดในปี 2539 โดยเป็นปรับเฉพาะค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 และชั้น 2เท่านั้น ซึ่งในช่วงนั้นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ราคาลิตรละประมาณ 8 บาท แต่ปัจจุบันมีราคาลิตรละ 28.79 บาท ส่งผลให้รฟท.มีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่การขนส่งทางถนนได้ปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันอยู่ตลอดเวลา