5เด็กนร.เจ๋ง กวาด 5 เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกที่กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเชีย ถือเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยจากร.ร.เตรียมอุดมศึกษาและมหิดลวิทยานุสรณ์
ยกทีมครองแชมป์ เผยเทคนิคเพียงตั้งใจเรียนในห้อง หมั่นฝึกฝนทำการทดลอง ที่สำคัญต้องค้นหาทำในสิ่งที่ชอบและถนัดความสามารถของเยาวชนไทย...
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้คัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2553 จำนวน 5 คน ณ กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเชีย ระหว่างวันที่ 17-25 ก.ค. ปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยคว้าเหรียญทองมาได้ทุกคน
นางพรพรรณกล่าวว่า เยาวชนที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปสร้างชื่อบนเวทีแข่งขันทางวิชาการระดับ นานาชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายนครินทร์ โลหิตศิริ นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายชยากร พงษ์ศิริ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม นายสิรภัทร จงอร่ามรุ่งเรือง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม นายอิสระพงศ์ เอกสินชล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และนายวีรภัทร พิทยครรชิต โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทั้ง 5 คน สามารถพิชิตได้ถึง 5 เหรียญทอง ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนเยาวชนไทยทุกคนสามารถครองเหรียญทอง ในวิชาฟิสิกส์ที่ถือเป็นวิชาที่ยาก โดยการแข่งขันครั้งนี้มีคณะอาจารย์ที่ร่วมเดินทางประกอบด้วย รศ.สุวรรณ คูสำราญ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหัวหน้าทีม ผศ.ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรองหัวหน้าทีม ผศ.ดร.รัชภาคย์ จิตต์อารี จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม ผศ.ดร.โศจิพงษ์ ฉัตราภรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม และอาจารย์ราม ติวารี จาก สสวท. เป็นผู้จัดการทีม ทั้งนี้ คณะผู้แทนประเทศไทยจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 14.20 น. เที่ยวบิน OS 025
ด้านนายนครินทร์ หรือเก่ง 1 ใน 5 คน ที่คว้าเหรียญทอง ให้ความเห็นว่า เรื่องการสอนวิทยาศาสตร์นั้นคุณครูควรสอนเด็กๆให้เข้าใจถึงแก่นและเนื้อหาสา ระนั้นๆ โดยอาจมีการทดลองหรือปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วไป หรือน่าตื่นเต้นมากระตุ้นความสนใจเด็กจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือเปลี่ยนความคิดมาชอบวิทยาศาสตร์ก็ได้ ส่วนเป้าหมายในอนาคตอยากจะทำวิจัยทางด้านฟิสิกส์ และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ขณะที่นายชยากร หรือตุลย์ กล่าวว่า สนุกกับการเรียนรู้ฟิสิกส์ โดยเฉพาะภาคปฏิบัติเพราะไม่น่าเบื่อ ชอบที่จะทดลองต่างๆ เมื่อสอบผ่านการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยครั้งนี้ รู้สึกดีใจมาก และพยายามเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการฝึกฝนทำโจทย์บ่อยๆ รวมทั้งเตรียมด้านจิตใจด้วย ส่วนเทคนิคก็เพียงตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีที่สุด เวลาว่างก็พักผ่อน ดูโทรทัศน์เหมือนเด็กทั่วๆไป ก่อนไปแข่งขันได้เตรียมใจและฝึกฝนเต็มที่
ส่วนนายสิรภัทร หรือป้อม เผยว่า ความสำเร็จของรุ่นพี่ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้สมัครเข้าโครงการนี้บ้าง และบอกกับตัวเองว่าอยากทำให้ได้ เมื่อผ่านการสอบเข้าสู่ค่ายโอลิมปิกวิชาการทำให้รู้สึกแข็งแกร่งทั้งด้าน สมองและจิตใจ ซึ่งเรียนรู้ฟิสิกส์แล้วรู้สึกสนุก ได้คิดวิเคราะห์ ไม่ต้องท่องจำ วิชาฟิสิกส์เปิดมุมมองโลกทัศน์ทำให้มองสิ่งต่างๆด้วยมุมมองที่เป็น วิทยาศาสตร์ เข้าใจกฎของธรรมชาติมากขึ้น สามารถนำมาสร้างเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆได้
นายอิสระพงศ์ หรือปริ๊นซ์ ซึ่งปีที่แล้วคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่าง ประเทศที่เม็กซิโกมาก่อน ให้ความเห็นว่า การจะเรียนให้ได้ดีนั้นที่สำคัญต้องค้นหาตัวเองให้พบว่าชอบหรือถนัดด้านใด มากที่สุด แล้วมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับคุณครูก็มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก ซึ่งอนาคตตั้งใจจะกลับมาเป็นนักวิจัยใช้ความรู้ที่มีรับใช้ชาติ ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด
สำหรับนายวีรภัทร หรือวี เป็นอีกคนที่ปีที่แล้วคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกจาก เม็กซิโกเช่นกัน เผยเคล็ดลับการเรียนว่า ให้ค้นหาความชอบและความฝันของตัวเอง ข้อสำคัญอย่ามัวแต่คิดว่าจะทำ แต่ ขอให้ลงมือทำจริงๆด้วยความตั้งใจ และถ้าผิดพลาดก็ควรปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไป เช่น ถ้าผลสอบออกมาไม่ได้ อย่างที่หวังก็ไม่ควรมานั่งเศร้า ส่วนสิ่งที่ยังไม่เกิดก็ไม่ควรกังวลเพราะทำให้เครียดเปล่าๆ สำหรับอนาคตตั้งเป้าหมายเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยและทำวิจัยพัฒนา ด้านนี้ไปด้วย