รมช.สธ. สั่งสถานพยาบาลทุกแห่ง เข้มมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่09-ทางเดินหายใจ หลังพบการละเลยป้องกัน
วันนื้(23ก.ค.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า
โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ ไม่มีผู้เสียชีวิตติดต่อกันในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 10 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยยืนยัน 6,977 ราย เสียชีวิต 34 ราย และพบว่าขณะนี้ประชาชนลดความกังวล ทำให้ละเลย และไม่ปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคอย่างจริงจัง จึงติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้
ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่ง เข้มมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจ
ทั้งผู้ป่วยและญาติที่มาเฝ้า ขอให้เจ้าหน้าที่แนะนำการปฏิบัติตัว พยายามอย่าคลุกคลี ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากนัก และเตรียมเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคหรือสบู่ล้างมือ หน้ากากอนามัย ไว้บริการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่สำคัญคือ ขณะนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีหลายสายพันธุ์ ในปีนี้มี 3 สายพันธุ์หลัก คือชนิดเอ เอช1เอ็น1 ชนิดเอ เอช3เอ็น2 และชนิดบี จึงขอให้ประชาชนดูแลร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงไม่ตากฝน ทำร่างกายให้อบอุ่น ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 วันอย่างน้อยวันละ 30 นาที กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เพิ่มผักผลไม้ หลีกเลี่ยงบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง และดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรค
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งเป็นวัคซีนรวม ป้องกันได้ 3 สายพันธุ์
ครอบคลุมทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ชนิดบีและไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 โดยฉีดให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกินกว่า 7 เดือน 2.ผู้ที่อ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 3.ผู้พิการทางสมอง 4.ประชาชนอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่เป็นโรคเรื้อรัง 10 โรค 5.ผู้สูงอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป 6.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน -2 ปี และ7. บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมวัคซีนไว้ทั้งหมด 2.1 ล้านโด๊ส บริการฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสป.สช. เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึง 31 ต.ค.นี้ หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่โทรศัพท์ 02 – 590 3333 อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 -16 ก.ค. ฉีดไปแล้ว 32,241 คนเป็นบุคลากรสาธารณสุข 17,615 คน และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 14,626 คน.