ย้ายสมเด็จเกี่ยว เสนอครม. พ้นผู้แทนสังฆราช

โดยขึ้นเป็น"ที่ปรึกษาฯ" เปลี่ยนให้สมเด็จวัดชนะ ดำรงตำแหน่งประธาน คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน


ชงเข้าครม.วันนี้ เผยทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศขึ้นเป็นที่ปรึกษาและตั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นประธานแทน พร้อมแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป เป็นรองประธาน และพระราชาคณะอีก 12 รูป เป็นผู้ช่วย โดยมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ รับสนองพระบัญชา ด้านพระธรรมกิตติเมธี ระบุ

พระบัญชาถือว่ามีผลในทางปฏิบัติ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และระเบียบมหาเถรสมาคม และให้การประชุมมหาเถรฯเหมือนการประชุมคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ฯ มีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการและคณะทำงานเพิ่มเติมได้อีก ส่วนการลงพระนามในคำสั่งต่างๆ เนื่องจากไม่เหมือนเดิมให้มีพยาน 3 คนคือ พระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ตัวแทนสำนักพระราชวัง และแพทย์ประจำพระองค์

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ นอกจากจะมีการพิจารณาวาระตามปกติแล้ว จะมีวาระสำคัญคือการแจ้งเรื่องพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ต่อที่ประชุมครม.เรื่องการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ลงพระนามโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ที่ประชุมรับทราบ มีใจความว่า โดยที่ขณะนี้สุขภาพของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดีขึ้นและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้แล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ส.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2535 จึงยกเลิกมติที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งที่ 20/2547 มติ 332/2547 เรื่องเลือกคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2547 และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ ธุระของสมเด็จพระสังฆราช จึงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะมีนามดังนี้ต่อไปนี้ เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชคือ

"เนื้อหาพระบัญชา"


สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นที่ปรึกษา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นประธาน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ เป็นรองประธาน พระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตร พระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตร พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศน์ พระศาสนโสภณ วัดราชบพิธ พระพรหมเมธี วัดเทพศิรินทราวาส พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมเวที วัดไตรมิตร พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา พระพรหมเมธาจารย์ วัดบุรณศิริมาตยาราม พระพรหมสุธี วัดสระเกศ พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศ์ และพระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธ เป็นผู้ช่วย

พระบัญชามีเนื้อหาด้วยว่า ให้การประชุมมหาเถรสมาคม เป็นการประชุมคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชด้วยและให้ประธานคณะปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชเลือกพระราชาคณะและคฤหัสถ์ ตามที่พิจารณาเห็นสมควร เป็นคณะเลขาธิการคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีผู้สนองพระบัญชา คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรี

"เอกสารอีก 2 ฉบับ"


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนั้นจะมีพระบัญชาแนบท้ายแล้ว ยังเอกสารอีก 2 ฉบับ คือฉบับที่ 1 คือพระบัญชายกเลิกมติมหาเถรสมาคมเรื่องแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นการถวายพระอำนาจคืน ซึ่งรัฐบาลทำตามคำเรียกร้องของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ไม่ต้องการให้เมืองไทยมีสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นการแบ่งเบาพระภาระของสมเด็จพระสังฆราชจึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยทรงแต่งตั้งสมเด็จพระพุฒจารย์ เป็นที่ปรึกษา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธาน เพื่อเป็นการหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ ส่วนสมเด็จพระราชาคณะที่เหลืออีก 4 รูป เป็นรองประธานและพระราชาคณะ คณะกรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 12 รูป เป็นผู้ช่วย

สำหรับในการลงพระนามในพระบัญชานั้น โดยที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์มิได้ทรงพระอักษรและลงนามมานาน พระหัตถ์จึงแข็งและถ้าหากลงพระนาม ลายพระหัตถ์ก็จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งในกรณีเช่นนี้แม่แต่พระสงฆ์และบุคคลทั่วไปที่มิได้เขียนและมิได้เซ็นชื่อในกรณีนี้ ก็อาจจะเซ็นชื่อไม่เหมือนเดิมได้ ตามหลักกฎหมายหรือในสมัยโบราณในกรณีที่ไม่อาจลงนามได้เช่นกรณีนี้ กฎหมายก็อนุญาตให้ใช้ชาดแตะนิ้วโป้งกดลายนิ้วพระหัตถ์ได้ แต่ปัจจุบันสามารถเชิญตราลายพระหัตถ์ประทับได้ โดยให้เลขานุการในพระองค์ อ่านเรื่องถวาย ทรงรับทราบและเห็นชอบต่อหน้าพยานทั้ง 3 ฝ่าย ตามระเบียบที่วางไว้ คือต่อหน้า 1 พระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในพระองค์สมเด็จพระสังฆราช 2.นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้แทนสำนักงานพระราชวัง และ 3.นายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราช เมื่อทรงแสดงอาการรับทราบและเห็นชอบและเช็ดลายพระหัตถ์ประทับแล้ว จึงนำให้นายกรัฐมนตรีลงนามสนองพระบัญชา

"เตรียมประกาศและแถลงการณ์ให้คณะสงฆ์ทราบต่อไป"


อนึ่ง ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่1) พ.ศ.2530 มาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพ.ศ.2547 วรรคหก ความว่า เมื่อมีการแต่งตั้งหรือเลือกปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้แล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะเชิญพระบัญชาดังกล่าว ไปแจ้งให้ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชและคณะรับทราบแล้ว ประกาศให้พุทธบริษัททราบ พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา และแถลงการณ์คณะสงฆ์ต่อไป

พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศ์ โฆษกมหาเถรสมาคม กล่าวว่า พระบัญชาของสมเด็มพระสังฆราชถือว่ามีผลในทางปฏิบัติและพระองค์สามารถทำได้ เพราะพระบัญชาไม่ขัดต่อกฎหมายไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและระเบียบมหาเถรสมาคม ส่วนการดำเนินการหลังจากนั้นคงต้องมีการประชุมกันในที่ประชุมมหาเถรสมาคมต่อไป

"ต้องออกเป็นพระราชกำหนด"


นายบุญศรี พานะจิตต์ รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การยกเลิกคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยอาจจะเป็นการแก้เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้หากออกเป็นพระราชกำหนด และนำขึ้นโปรดเกล้าฯ แล้ว จะสามารถนำไปแก้ไขกฎหมายของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ได้ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่นายวิษณุ เครืองาม สมาชิกสภานิติบัญญัติเคยได้กระทำในการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แล้วให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ แล้วตนเห็นว่าทางรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์ ดังนั้นควรที่จะนำคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ชุดปัจจุบันขึ้นทูลเกล้าฯ ตามเดิม

"เข้าใจว่าการที่จะมีการยกเลิกผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อที่ต้องการจะคืนพระราชอำนาจให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะการที่จะแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ มาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แต่งตั้งรักษาการแทนเท่านั้น" นางบุญศรี กล่าว

"พระสงฆ์ 300 รูปส่งหนังสือยับยั้งการลงนามในพระราชบัญชา"


ด้านพระมหาโซว์ ทัสสนีโย ผอ.ส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในวันที่ 7 พ.ย. เวลา 08.00 น. คณะสงฆ์ประมาณ 300 รูป จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง และพระสงฆ์กทม. พระสังฆาธิการจากมหานิกายและธรรมยุต จะไปสวดมนต์และส่งหนังสือถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยับยั้งการลงนามในพระราชบัญชา

รวมทั้งยับยั้งการนำร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยนายไพศาล พืชมงคล สมาชิกสภานิติบัญแห่งชาติ ที่เสนอผ่านกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมครม. เพราะพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านมหาเถรสมาคม ที่สำคัญหากมีการลงนามในพระราชบัญชาและมีการประกาศใช้ได้จะทำให้เกิดความแตกแยกอย่างใหญ่หลวงระหว่างพระสงฆ์ธรรมยุตกับมหานิกาย

"เสนอให้แก้ พรบ.คณะสงฆ์"


ด้านน.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตผอ.สำนักงานพระพุธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เท่าที่ทราบจะมีการเสนอให้แก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 เรื่องการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้แต่งตั้งพระผู้ใหญ่ที่มีความอาวุโสทางพรรษา จากเดิมนับอาวุโสจากการได้รับแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นหลัก ตามหลักธรรมวินัยการนับอาวุโสจากการได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ ไม่ถูกต้อง

เย็นวันเดียวกัน นางบุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวอีกครั้งว่า พศ.ไม่ทราบว่าจะมีการนำเสนอร่างพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งรักษาการสมเด็จพระสังฆราชใหม่เข้าพิจารณาในที่ประชุมครม.หรือไม่ รัฐบาลก็ไม่ได้สอบถามมายังพศ.เลย และเท่าที่ทราบในวาระปกติของการประชุมครม.ก็ไม่มีเรื่องนี้

"เรื่องนี้มีคนโทรศัพท์มาสอบถาม ก็ยังตอบไม่ได้ และงงว่ามีข่าวออกได้อย่างไร ไม่แน่ใจว่าจะจริงหรือไม่" นางบุญศรี กล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์