เผย ด.ญ.ต่ำกว่า15ปี ท้อง1หมื่นคนต่อปี

ด้าน “จุรินทร์” ส่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้อนุฯ ปรับแก้ พร้อมทำประชาพิจารณ์


วันนี้ (12 ก.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ... ซึ่งยกร่างโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียบ กฎ และกฎหมายด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยที่ประชุมกระทรวงได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อส่งให้คณะอนุกรรมการฯ นำไปประกอบการพิจารณา เช่น ประเด็นเรื่องสถานบริการสาธารณสุขที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. หมายความว่า สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมเห็นว่าไม่ครอบคลุมสถานบริการทุกระดับ ทุกประเภท ก็ให้ไปปรับปรุงแก้ไข
   
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คือ ให้คณะอนุกรรมการฯ นำข้อเสนอของที่ประชุมไปพิจารณาปรับแก้

จากนั้นตนเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.นี้ ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ซึ่งมีตนเป็นประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
   
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรา 12 ในกรณีที่สถานศึกษามีหญิงมีครรภ์นั้นอยู่ระหว่างศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษานั้นต้องอนุญาตให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์ และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตรได้นั้น ที่ประชุมกระทรวงก็มีความเห็นทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งมองว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมให้เด็กในวัยเรียนตั้งครรภ์หรือไม่ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มองว่าจะเปิดโอกาสให้เด็กในวัยเรียนที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อเหมือนกับเยาวชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวทางเดิมที่ไล่เด็กออกขณะตั้งครรภ์ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ อีกทั้ง ก็ไม่ได้ช่วยให้ตัวเลขเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียนลดลง
   
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
จากข้อมูลพบว่า มี ด.ญ.อายุต่ำกว่า 15 ปี ตั้งครรภ์ประมาณ 1.1.% ถ้าคิดที่ตัวเลขการตั้งครรภ์ปีละ 8 แสนราย คาดว่า จะมี ด.ญ.อายุต่ำกว่า 15 ปี ตั้งครรภ์ประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี
   
ด้าน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขหญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 20 ปี

พบประมาณ 15% ต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ... ในฐานะที่ตนเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียบ กฎ และกฎหมายด้านอนามัยเจริญพันธุ์ คงจะนัดคณะอนุกรรมการฯ ประชุมโดยเร็ว เพื่อปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาตามที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขเสนอ จากนั้น จะนำไปทำประชาพิจารณ์ใน 1-2 เดือน ก่อนนำเข้าเสนอคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานต่อไป.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์