รับสั่งให้ สธ. ดูแลสุขภาพ ผู้ถูกน้ำท่วม

"ปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง"


ปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายลงเรื่อยๆ หลังมีการระบายน้ำลงทุ่งต่างๆ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ได้ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด มีปริมาณ 2,864 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,880 ลบ.ม.ต่อวินาที ถือว่าเป็นวันแรกที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าระดับตลิ่ง ทั้งนี้ ปริมาณน้ำลดลงในทุกจังหวัด ส่งผลดีต่อการควบคุมปริมาณน้ำ และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมทุกจังหวัดจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ส่วนการระบายน้ำในทุ่งต่างๆ กรมชลประทานได้ระบายไปรวมกันที่ทุ่งสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และจะทยอยสูบน้ำออก แต่ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 6-10 พ.ย. จะหยุดสูบน้ำออกชั่วคราว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี น้ำลดลง อย่างต่อเนื่องจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มบางจุดที่ระดับน้ำท่วมขังประมาณ 1.30 เมตร โดยเฉพาะ ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี บ้านหลายหลังยังจมอยู่ใต้บาดาล นางจำรูญ มานพ อายุ 39 ปี ชาวบ้านที่ประสบภัย เปิดเผยว่า บ้านถูกน้ำท่วมจนเกือบมิดหลังคามาร่วมเดือนแล้ว ทำให้ต้องพาลูกๆไปอยู่บนที่สูงห่างจากบ้านเกือบ 1 กม. และยังต้องอาศัยข้าววัดตึกที่อยู่ในหมู่บ้านกินไปวันๆ เพราะลำพังของแจกไม่เพียงพอ

"ลื่นพลัดตกน้ำดับ"


ขณะเดียวกัน ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พ.ต.ท.ประกอบ ภูมิวัฒนะ สารวัตรเวร สภ.อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี รับแจ้งมีคนจมน้ำตายในตลาดอินทร์บุรี หมู่ 6 ต.อินทร์บุรี ทราบชื่อนายวิรัตน์ ปลายพฤศจิกา อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 336 หมู่ 6 ต.อินทร์บุรี สอบสวนนางกิมเช้ง ปลายพฤศจิกา อายุ 52 ปี ภรรยาผู้ตายทราบว่า ก่อนเกิดเหตุช่วงเช้า นายวิรัตน์เดินไปอาบน้ำหน้าบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วเกิดหายไป โดยสงสัยว่าอาจลื่นล้มพลัดตกน้ำ จึงให้ชาวบ้านช่วยงมหา กระทั่งพบศพดังกล่าว

ที่ จ.อ่างทอง ระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 8-10 ซม. แต่ยังท่วมหนักหลายอำเภอ ส่งผลให้เทศกาลลอยกระทงปีนี้ ทางจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และ อบต.ทุกแห่งต้องยกเลิกการจัดงานไปโดยปริยาย ขณะที่บางหมู่บ้านก็ได้จัดกันเองเพื่อคลายความเครียด เช่นที่หมู่ 2 ต.ป่างิ้ว อ.เมืองอ่างทอง ชาวบ้านร่วมกันดำน้ำลงไปตัดต้นกล้วยซึ่งถูกน้ำท่วมตายมาทำกระทงเป็นเรือนทรงไทยหลังใหญ่กว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร มาลอยตามน้ำ และบางหมู่บ้านจัดแข่งเรือ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีผู้สังเวยชีวิตอีก 1 ศพ ขณะไปเล่นน้ำข้างบ้านทราบชื่อ ด.ช.ภาณุวัฒน์ ประเสริฐสุข อายุ 10 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 84 หมู่ 4 ต.สายทอง อ.ป่าโมก

"เสียหายรวมกว่า 1 พันล้านบาท"


ด้านนายเอนก สีเขียวสด ประธานหอการค้าจังหวัดอ่างทอง เจ้าของบริษัทเอนกฟาร์มนกกระทา จำกัด เปิดเผยว่า ตนเลี้ยงปลาสลิดไว้ที่ อ.วิเศษชัยชาญ ถึง 185 ไร่ ใกล้จับขายได้แล้ว แต่ถูกน้ำท่วมปลาหลุดไปหมด สูญเสียรายได้ไปร่วม 6 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนกกระทา 3 แสนตัว และไข่นก 3 ตู้ รวมทั้งเครื่องจักรต่างๆจมน้ำ มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท น้ำท่วมครั้งนี้นับว่า จ.อ่างทอง เป็นอ่างทองให้กับจังหวัดอื่น เพราะช่วยรองรับน้ำเอาไว้จนกรุงเทพฯและพื้นที่ชานเมืองรอดจากถูกน้ำท่วม ค่าความเสียหายทั้งจังหวัดเกินกว่า 1 พันล้านบาท ทางการน่าจะรีบหามาตรการเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน

ส่วนที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่รองรับน้ำ จากคลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ช่วงบ่ายวันเดียวกันนายวัฒนศักดิ์ บุญพา อายุ 40 ปี ชาว จ.สระแก้ว ชวนเพื่อนไปทอดแหริมถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ท้องที่หมู่ 2 ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า ซึ่งถูกน้ำท่วมริมถนนสูงกว่า 1.50 เมตร และเกิดพลัดตกน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากถูกซัดจมหายไป เพื่อนๆจึงประสานหน่วยกู้ภัยเณรแก้วและหน่วยกู้ภัยเสมอกันงมหาศพ แต่ไม่พบร่องรอย

"100 หมู่บ้านน้ำท่วมหนัก"


สำหรับ จ.นนทบุรี น้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้า อ.ไทรน้อย บางบัวทอง และบางใหญ่ ทำให้ระดับน้ำจากคลองพระพิมลราชาเพิ่มสูงขึ้น หมู่บ้านจัดสรรที่อยู่สองฝังคลองกว่า 100 หมู่บ้านถูกน้ำท่วมอย่างหนัก โดยเฉพาะบ้านพฤกษา 10 อ.ไทรน้อย ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่กว่า 1,000 หลัง นอกจากนี้ น้ำยังทะลักเข้าคลองต่างๆท่วมบ้านเรือนชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง ด้านนายสุรพล ไมย์วงศ์ นายอำเภอบางบัวทอง ได้นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านหมู่ 7 ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

นายเอนก จันทร์สมบัติ นายช่างหมวดการทางลาดหลุมแก้ว (สังกัดแขวงการทางปทุมธานี) สนง.ทางหลวงที่ 11 กล่าวว่า ขณะนี้ถนนถูกน้ำท่วมฉับพลันหลายสาย เนื่องจากมีการผันน้ำลงคลองพระยาบันลือเพื่อระบายลงแม่น้ำท่าจีน ล่าสุดถนนวงแหวนรอบนอกฝังตะวันตกก็ถูกน้ำท่วมอีกจุดบริเวณหลัก กม.ที่ 67 ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร จึงฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนถ้าไม่จำเป็นกรุณาหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น

"รับสั่ง กระทรวงสาธารณะสุขดูแลให้ดีที่สุด"


นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ประสบอุทกภัยเป็นเวลานาน ทำให้ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ได้รับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดีที่สุด นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น โดยกระทรวงฯน้อมรับใส่เกล้าฯ และเร่งให้การดูแลสุขภาพของประชาชน อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงนี้มุ่งเน้นป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม และให้กรมสุขภาพจิตดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือและฟื้นฟูทางจิตใจแก่ผู้ประสบภัย เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีม สุขภาพจิตจากศูนย์สุขภาพจิตเขตต่างๆ รวมทั้ง อสม.ที่ผ่านอบรมการคลายเครียด โรงพยาบาลจิตเวช จ.ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กจังหวัดเชียงใหม่ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพจิตประชาชน ถึงวันนี้มีผู้ประสบภัยมารับบริการ 80,271 ราย ในจำนวนนี้ให้ยาคลายวิตกกังวล 571 ราย โดยกรมสุขภาพจิตได้เปิดสายด่วนอัตโนมัติ 1667 และสายด่วน 1332 ให้คำปรึกษาประชาชนด้านปัญหาสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง

"เห็นชอบให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน"


ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 7 พ.ย. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และแนวทางการจัดทำแผนการบรรเทาอุทกภัยระยะกลางและระยะยาว โดยขอความเห็นชอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอนายโฆสิต ปั้นเปียมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเช่น การติดตาม วิเคราะห์ สถานการณ์ รวมทั้งการบริหารจัดการผันน้ำ การประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชน การประกาศแจ้งเตือนรวมทั้งการช่วยเหลือและชดเชยค่าเสียหาย การป้องกันและแก้ไขโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำ การซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างและสาธารณประโยชน์

ส่วนแผนระยะกลางและระยะยาวจะเน้น 1. การป้องกันและฟื้นฟูสภาพป่ารวมทั้งแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่า 2. อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า แหล่งน้ำ ทางน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเขตทางน้ำ ทบทวนออกระเบียบให้หน่วยราชการร้องขออนุญาตสิ่งก่อสร้างกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งโครงการก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำต้องผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

"ออกระเบียบกฏหมายชดเชยความเสียหาย"


บังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาที่ดิน และพื้นที่ทางน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำคืนจากผู้บุกรุกทั้งภาคราชการ เอกชนและชุมชน 3. การชะลอน้ำ แก้มลิงและสร้างเขื่อน เช่น ออกระเบียบกฎหมายชดเชยความเสียหายจากการกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้มลิง 4. การใช้ประโยชน์ของที่ดิน เร่งรัดจัดทำผังเมืองทุกระดับ โดยต้องกำหนดเรื่องการระบายน้ำและการรองรับ

5. การพยากรณ์เตือนภัยและการประกันความเสี่ยง กำหนดให้มีระบบประกันภัยความเสี่ยงน้ำท่วมและใช้ มาตรการทางภาษีหรือการเงินในการป้องกันน้ำท่วม และจัดตั้งกองทุนชดเชยให้ผู้เสียหายในพื้นที่รับน้ำอย่างเป็นธรรม 6. การป้องกันชุมชนเมือง โดยสร้างทางผันน้ำออกจากทางน้ำหลัก ควบคุมการสูบน้ำบาดาลในพื้นที่วิกฤติทำให้แผ่นดินทรุด 7. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและ 25 ลุ่มน้ำหลัก โดยจัดตั้งทบวงน้ำหรือกระทรวงน้ำ เร่งรัดออกกฎหมายน้ำ รวมทั้งทบทวนวิสัยทัศน์ นโยบายน้ำแห่งชาติ ซึ่งต้องปรับปรุงนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำของชาตินำไปสู่การปฏิบัติ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์