แขวนคอ 3 คน ซัดดัม ฮุสเซน

"ประหารซัดดัม"


ในที่สุดการพิจารณาคดีอดีตผู้นำอิรัก ซัดดัม ฮุสเซน ที่ถูกสหรัฐอเมริกาโค่นลงจากอำนาจ เมื่อต้นปี 2546 และถูกทหารสหรัฐฯไล่ล่าจับกุมตัวได้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ปีเดียวกัน ก่อนนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของอิรัก พร้อมกับลูกน้องใกล้ชิดอีก 7 คน ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2548 เพื่อพิจารณาโทษทัณฑ์ ในคดีก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ จากการสั่งสังหารหมู่ชาวอิรัก นิกายชีอะห์ จำนวน 148 ราย ที่หมู่บ้านดูจาอิล เมื่อช่วงปี 2545 ก็ได้ข้อยุติตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว โดยสำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายราอุฟ ราชิด อับเดล รามาน ผู้พิพากษาศาลพิเศษอิรักในเขต กรีนโซน กรุงแบกแดด ขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาจำเลยในคดีประวัติศาสตร์คดีนี้ ให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอผู้ต้องหา 3 คน จำคุกตลอดชีวิต 1 คน จำคุก 15 ปี 3 คน และยกฟ้อง 1 คน

โดยผู้ต้องหาที่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ประกอบด้วย นายซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก วัย 69 ปี นายบาร์ซัน อัล-ทีกริต ลูกพี่ลูกน้องของนายซัดดัม ที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอิรัก และนายอาวัด ฮาเหม็ด อัล-บันดาร์ อดีตหัวหน้าศาลปฏิวัติ หลังจากที่ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คน มีความผิดจริงในคดีดังกล่าว

"ตัดสินคดีซัดดัมเหมือนเล่นปาหี่"


ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีเดียวกัน อันได้แก่ นายทาฮา ยัสซิน รามาดัน อดีตรองประธานาธิบดีอิรัก ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นายอับดุลลาห์ คาซิม รูวายยิด นายมิซหาร์ อับดุลลาห์ รูวายยิด และนายอาลี ดาอีห์ อาลี อดีตสมาชิกพรรคบาธ ได้รับโทษจำคุกคนละ 15 ปี ในข้อหากระทำการทรมานและสังหารผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนนายโมฮัมเหม็ด อาซาวี อาลี โชคดีที่สุด เนื่องจากศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิด

สำหรับบรรยากาศในศาล ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการตัดสิน ผู้พิพากษาได้สั่งให้นายแรมซีย์ คลาร์ก อดีตรมว.ยุติธรรมสหรัฐฯ หนึ่งในทีมทนาย ที่ว่าความให้อดีตผู้นำอิรัก ออกจากศาล หลังจากนายคลาร์กเข้ายื่นหนังสือต่อผู้พิพากษา ระบุการตัดสินคดีนายซัดดัมเป็นเสมือนการเล่นปาหี่

"ซัดดัมขัดขืนตะโกนก้อง"


ขณะที่อดีตผู้นำอิรัก ในช่วงแรกไม่ยอมยืนทำความเคารพต่อหน้าศาล เพื่อรับฟังคำตัดสิน จนนายรามาน ผู้พิพากษาต้องสั่งให้ตำรวจประจำศาลไปล็อกแขนนายซัดดัมเพื่อบังคับให้ยืนขึ้น แต่ในระหว่างการอ่านคำพิพากษานั้น นายซัดดัมยังคงมีท่าทีขัดขืนอยู่ตลอด และบอกให้ตำรวจปล่อยมือที่จับตัวเขาไว้ โดยหลังฟังคำพิพากษา นายซัดดัมยังตะโกนออกมาด้วยเสียงสั่นเทาว่า ขอให้อิรักอยู่ยืนยง ขอให้อิรักจงเจริญ พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่าผู้บุกยึดครอง ชีวิตนี้เพื่อชาติและขอตายในเงื้อมมือศัตรูของชาติ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินประหารชีวิตนายซัดดัมและพวกอีก 2 คน ในครั้งนี้ ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะซัดดัมและพวกจะได้รับสิทธิในการยื่นอุทธรณ์โดยอัตโนมัติ ซึ่งหากคณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จำนวน 9 คน มีความเห็นแตกต่างไปจากคำพิพากษาของศาลพิเศษในครั้งนี้ ก็จะต้องมีการเรียกพยานหลักฐานเข้ามาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีข้อสงสัยใดๆ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนตามคำตัดสินศาลพิเศษ และผู้ต้องหาทั้ง 3 จะถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอภายใน 30 วัน ซึ่งนายราอิด อัล-จูฮี หัวหน้าผู้พิพากษาฝ่ายสอบสวนและโฆษกศาลพิเศษ ระบุว่า ศาลอุทธรณ์จะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีนายซัดดัมและพวกในวันจันทร์หน้า และจะใช้เวลาพิจารณาราว 1 เดือน

"ชาวอิรักยินดีที่ซัดดัมโดนโทษประหาร"


หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น มีความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่าย โดยนายบุชรา อัล-คาลิล ทนายความนายซัดดัม กล่าวว่า การตัดสินคดีเป็นการล้อเลียนกระบวนการยุติธรรม และมาจากศาลที่น่าละอายและผิดกฎหมาย ซึ่งจัดตั้งโดยสหรัฐฯ ขณะที่นายคาลิล อัล-ดูไลมี หัวหน้าทีมทนายนายซัดดัม ระบุว่า อดีตผู้นำอิรักเรียกร้องชาวอิรักอย่าก่อสงครามระหว่าง 2 นิกาย และไม่ให้แก้แค้นต่อสหรัฐฯ ชาติผู้รุกราน

ด้านรัฐบาลอิรัก ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ได้ออกมากล่าวแสดงความยินดีที่นายซัดดัม ฮุสเซน ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต โดยชี้ว่า อดีตผู้นำจอมเผด็จการผู้นี้ ได้รับกรรมอันสาสมแล้ว ขณะที่ ประธานาธิบดีอิรัก จาลัล ทาลาบานี กลับปฏิเสธที่จะออกความเห็น แต่สมาชิกสภาบางคนที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เคยมีบทบาทมากในยุคซัดดัมเรืองอำนาจ ชี้ว่า คำพิพากษาเป็นเรื่องการเมือง

"หลังประกาศประหารซัดดัม เกิดความรุนแรงในอิรัก"


สำนักข่าวรายงานว่า หลังศาลมีคำพิพากษาประหาร ชีวิตนายซัดดัมก็ได้เกิดความรุนแรงในอิรักขึ้นทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ซึ่งให้การสนับสนุนนายซัดดัม อาทิที่เขตอาซามิยาห์ ทางเหนือกรุงแบกแดด กลุ่มมือปืนปะทะกับตำรวจอย่างดุเดือด ที่เมืองทีกริต บ้านเกิดของซัดดัม ชาวเมืองราว 1,000 คน ออกมาชุมนุมชูโปสเตอร์รูปซัดดัม โดยไม่สนใจคำประกาศเคอร์ฟิว และการตั้งด่านตรวจเข้มตามถนนสายสำคัญๆทั่วเมือง โดยผู้ชุมนุมบางคนตะโกนด่าว่า ศาลเป็นขี้ข้าสหรัฐฯ ผู้ยึดครองอิรัก เช่นเดียวกับผู้คนในเขตดาวาร์ ทางเหนือกรุงแบกแดด ใกล้เมืองทีกริต ได้ออกมาชุมนุมไม่พอใจคำพิพากษา ส่วนที่เมืองทีกริต ชีค อัล-นาวาดี ผู้นำชนเผ่าบายกัต กล่าวชื่นชมซัดดัมว่า อยู่อย่างวีรบุรุษและจะตายอย่างวีรบุรุษ ศาลถูกตั้งขึ้นโดยศัตรูและเป็นละครตลกแห่งประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกัน ชาวอิรักที่นับถือนิกายชีอะห์ นับพันคนออกมาเฉลิมฉลองคำตัดสินประหารชีวิตซัดดัมกันที่เขตซาดร์ ซิตี้ ด้านตะวันออกกรุงแบกแดด มีการแจกขนมให้เด็กๆและโห่ร้องยินดี มีทั้งการประณามซัดดัม และชื่นชมนายม็อกทาดา อัล-ซาดร์ ผู้นำของตน ส่วนที่เมืองดูจาอิล ริมแม่น้ำไทกริส ซึ่งมีประชากรราว 84,000 คน และเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตซัดดัมครั้งนี้ ชาวเมืองก็ออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนน และเผารูปภาพของซัดดัมอย่างสะใจ

"ปฏิกิริยาจากทั่วโลก"


สำหรับปฏิกิริยาจากทั่วโลก นางมาร์กาเร็ต เบคเก็ตต์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ แถลงว่า อังกฤษพอใจกับคำตัดสินคดีประหารชีวิตนายซัดดัมและถือเป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ก่ออาชญากรรมต่อชาวอิรักได้รับการตัดสินโทษด้วยกระบวนการยุติธรรมของอิรัก ขณะที่นายซัลมาย คาลิซาด ทูตสหรัฐฯประจำอิรัก ก็กล่าวว่า การตัดสินโทษนายซัดดัมและพวก ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญต่ออิรัก ส่วนนาย อเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ไม่แปลกใจเลยกับโทษประหารชีวิตสำหรับนายซัดดัม แต่หัวหน้าคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศแห่งสภาดูมาของรัสเซีย ระบุ ว่าการตัดสินประหารชีวิตนายซัดดัมจะก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ส่วนหลายชาติตะวันออกกลาง มีความเห็นที่แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือมีทั้งยินดีกับคำพิพากษา กับมองว่าการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ นายซัดดัมและพวกยังมีคดีที่อยู่ในชั้นศาลอีกเป็นคดีที่สอง คือคดี อันฟาล การสังหารหมู่ชาวเคิร์ดหลายพันคนทางภาคเหนือของอิรัก ในช่วงปี 2531 ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์