เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางขึ้นไปสำรวจบนปราสาทนครหลวง ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นหนึ่งโบราณสถานสำคัญของจังหวัด และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก โดยสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและปัจจุบันก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.นครหลวง หลังรับแจ้งจากนักท่องเที่ยวและประชาชนว่า พบโถชักโครกแบบที่ใช้ตามบ้านทั่วไป ไปตั้งใช้อยู่บนฐานยอดมณฑปของปราสาทนครหลวง และมีการเดินท่อน้ำประปา และท่อน้ำทิ้งไว้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดไม่เหมาะสมและอยากให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน สำหรับปราสาทนครหลวงหลวงนี้ปัจจุบันวัดนครหลวงเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว
จากการตรวจสอบ พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ขึ้นมาท่องเที่ยวตามตารางการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว ของ ททท.จังหวัด
ที่บรรจุลงในแผนการท่องเที่ยวว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าเที่ยวชม แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วต้องพบกับความผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะบริเวณโดยรอบบนยอดปราสาทนครหลวง ที่เป็นที่ตั้งมณฑปและระเบียงคดทั้ง 4 ทิศ รวมถึงลานรอบมณฑป มีสภาพเสื่อมโทรม สกปรก คล้ายกับไม่มีคนดูแล ปล่อยให้นกพิราบถ่ายกองสะสมหนาอยู่ทั้งบริเวณจนมูลนกหนาคล้ายกองดิน ที่สำคัญส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะที่ตามมุมต่างของปราสาทที่มีอยู่จำนวนกว่า 20 มุม และที่ด้านหลังปราสาท พบโถชักโครกตั้งตระหง่าน อยู่อย่างเด่นชัด โดยมีการเดินท่อน้ำขึ้นมา และมีการต่อท่อน้ำทิ้งลงไปด้านล่าง
ซึ่งปัจจุบันพบว่า ท่อน้ำต่าง ๆ ไม่สมบูรณ์ที่จะใช้งานได้แล้ โดยทั้งหมดสร้างความสลดหดหู่ใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังพบว่า มีนักท่องเที่ยวอุตริที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าไปใช้ถ่ายปัสสาวะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ของเสียทั้งหมดจะถูกปล่อยถ่ายไปตามท่อที่ชำรุด ราดสาดรดไปบนตัวโบราณสถาน ทั้งนี้การติดตั้งโถชักโครกยังพบว่า ผู้ติดตั้งได้เจาะส่วนที่เป็นโบราณสถานลงไปโบกทับด้วยปูนซิเมนต์ต่อท่อพีวีซี เป็นทางระบายน้ำะของชักโครกราดไปตามซากโบราณสถานด้วยเช่นกัน
ด้าน นางอนงค์เทพ ซีลัม อายุ 52 ปี ไกด์พานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กล่าวว่า ตนเองพานักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมโบราณสถานปราสาทนครหลวง
ได้มาเห็นสภาพโถชักโครกบนปราสาทและความสกปรก ก็ต้องขอตำหนิ เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าตรวจสอบมาดูแล อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ 1 รูป ที่อยู่ในมณฑป ให้ข้อมูลเพียงว่า ไม่มีคนและพระที่จะมาดูแลเรื่องความสะอาด ส่วนโถชักโครกดังกล่าว ก็พบว่าเป็นของเก่าที่ทำชั่วคราวมาแต่ปี 47 แล้ว โดยช่วงนั้นมีการปลุกเสกวัตถุมงคล โดยพระราชาคณะระดับชั้นสมเด็จ มาปลุกเสกพระ 1 พรรษา ด้วยปราสาทนครหลวงสูงและพระเถระที่มาปลุกเสก ก็ชราภาพกันมากแล้ว จึงสร้างโถชักโครงชั่วคราวเพื่อใช้เฉพาะกิจในช่วงนั้น และเมื่อเสร็จพิธีก็ยังไม่ได้รื้อออก แต่ก็ไม่มีใครใช้มานานแล้ว การที่วัดไปทำแบบนั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำลายโบราณสถาน แต่ทำเป็นการเฉพาะกิจเท่านั้น
สำหรับปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ต่อมามาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อพ.ศ.2147 พระองค์โปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลาที่เรียกว่า“พระนครหลวง”ในกรุงกัมพูชา แต่ก็สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ และไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุใด ต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและพระบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้