อายัดรถพยาบาล ใช้ได้-ห้ามต่อเติม

"แถลงข้อเท็จจริง"


วันที่ 3 พ.ย. นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวข้อเท็จจริงและความคืบหน้า 4 กรณีสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย ปัญหาการก่อสร้างอาคารบริการ 12 ชั้น รพ.สมุทรสาคร การจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 912 ล้านบาท

การจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ภาค 1 และภาค 2 ว่า รัฐบาลนี้เน้นการสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาในเรื่องต่างๆที่ได้ดำเนินการมา โดยในแต่ละเรื่อง เป็นเรื่องที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมา

"ข้อกล่าวหา"


นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดฯสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีปัญหาการก่อสร้างอาคารบริการ 12 ชั้น ของ รพ.สมุทรสาคร ว่า จากการที่ จ.สมุทรสาครได้ดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างอาคารบริการของ รพ.สมุทรสาคร ต่อมามีการปรับลดรายการจาก 12 ชั้น เหลือ 6 ชั้น เพื่อให้อยู่ในวงเงินงบประมาณ แต่ต่อมาประชาชนเสนอขอให้ปรับมาเป็น 12 ชั้นเหมือนเดิม และมีการนำเรื่องเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นมีการ

กล่าวหาว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ นพ.วิชัย เทียนถาวร ปกปิดข้อเท็จจริง โดยรายงานว่า จ.สมุทรสาคร ได้ยกเลิกการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษไปแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงคือยังไม่ได้ประกาศยกเลิกการจัดจ้าง จึงถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ เรื่องนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2549 เห็นชอบให้ยุติเรื่อง

"สอบสวนวินัยร้ายแรง"


นพ.มานิตกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการจัดซื้อติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การคลัง และข้อมูลโรงพยาบาล วงเงิน 912 ล้านบาท ซึ่ง นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีต รมว.สาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ได้รายงานผลให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2549 ผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า

คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวด ราคาชุดที่มี นพ.ชาตรี บานชื่น เป็นประธาน ดำเนินการโดยมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ จึงได้ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่คณะกรรมการชุดดังกล่าว มี นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดฯ สาธารณสุข เป็นประธาน ทั้งนี้ หากผลการสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการผู้อื่น โดยเฉพาะอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิชัย เทียนถาวร ซึ่งเป็นผู้ลงนามยกเลิกการประกวดราคา และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดที่มี นพ.บุญเลิศ ลิ้มทองกุล เป็นประธาน ก็ให้รายงานว่า บุคคลใดมีส่วนร่วมกระทำผิด มีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่อย่างไรด้วย โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเวลา 60 วัน

"ต้องรอการสอบสวนก่อน"


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของ นพ.วิชัย เทียนถาวร ที่ลาออกจากราชการไปแล้ว จะดำเนินการเอาผิดวินัยร้ายแรงอย่างไร หรือจะมีการแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ นายสุรชัย รัตนกรกุล นิติกร 7 กล่าวว่า สามารถแจ้งความได้ หรือเอาผิดด้วยการยกเลิกบำเหน็จบำนาญได้ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหมายความว่าต้องเป็นการทุจริต หรือทำให้ราชการเสียหาย ในกรณีนี้เป็นเหตุผลใดในการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นพ.มงคลกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้กรรมการสอบสวนเสียก่อน และการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ไม่ได้หมายความว่า ผลจะต้องออกมาร้ายแรง อาจจะออกมาไม่ร้ายแรงหรือไม่มีความผิดก็ได้ เพราะฉะนั้น การตั้งกรรมการสอบไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกตั้งกรรมการสอบมีความผิด

ส่วน นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงปัญหาการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงภาค 1 แถลงว่า นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดฯสาธารณสุข ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นพ.สมชาย กาญจนสุต อดีต ผอ.ศูนย์นเรนทร ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดราคากลางและคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์รายการรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง โดยมีตนเป็นประธาน และให้สอบสวนให้แล้วเสร็จในเวลา 60 วัน

"สุ่มตรวจรถพยาบาล"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว มีการแจกเอกสารประกอบการแถลงข่าว โดยระบุถึงการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงภาคที่ 2 ในช่วงเดือน ต.ค. 2548 ว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2549 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงสาธารณสุขว่าตรวจสอบพบว่ารถพยาบาลที่ผ่านการตรวจรับแล้วมีความผิดปกติเกี่ยวกับการประกอบรถยนต์และอื่นๆ จึงจำเป็นต้องขออายัดรถไว้ทั้งหมด 232 คัน ให้คงอยู่ในสภาพเดิม

เพื่อรอตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยขอความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรถพยาบาลดังกล่าวด้วย ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รถพยาบาลดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2549 มี นพ.ปัญญา สอนคม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นประธาน โดยให้สุ่มตรวจสอบว่ารถพยาบาลเหล่านั้นถูกต้องตรงกับคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนดตามสัญญาซื้อขายหรือไม่ โดยอาจตรวจสอบเองหรือร่วมตรวจสอบกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินด้วยก็ได้ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน

"ทำการอายัดรถไว้ก่อน"


สำหรับการอายัดรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 232 คัน นั้น สตง.อนุญาตให้โรงพยาบาลเจ้าของรถพยาบาลจำนวน 230 คัน สามารถนำรถพยาบาลไปใช้ได้ โดยห้ามต่อเติมหรือปรับแต่งอุปกรณ์ ตัวถัง หรือส่วนประกอบใดๆ ของรถพยาบาลโดยเด็ดขาด ส่วนรถพยาบาลฉุกเฉินจำนวน 2 คัน ของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า และ รพ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ให้อายัดไว้โดยมิให้นำไปใช้

ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังรับทราบคำสั่งสอบสวนวินัยร้ายแรงว่า ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของคณะกรรมการ ที่ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบราชการ โดยส่วนตัวพร้อมให้ตรวจสอบ ที่สำคัญโครงการนี้ยังไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่น่าที่จะเกิดความเสียหายต่อทางราชการ ในทางตรงกันข้ามทำให้ราชการได้รับประโยชน์ เพราะจะมีโอกาสในการเลือกซื้อของที่ดีกว่า


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์